ประวัติความเป็นมา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท
เฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับพระราชทานพระพุทธมหาลาภ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2535

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2535 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หลังจากได้ทรงรับทราบปัญหาอุปสรรคบางประการที่เกิดขึ้นบนพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา " ด้วยทรงพระเมตตาหาใดเปรียบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระพุทธรูปส่วนพระองค์ นามว่า “พระพุทธมหาลาภ” เป็นพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย นำมาซึ่งความเป็นสวัสดิมงคลและความร่มเย็นเป็นสุขแก่บรรดาคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลตลอดมา พระพุทธมหาลาภเป็นพระพุทธรูปโบราณทรงเครื่องแบบกษัตริย์ หงายพระหัตถ์ในลักษณะของปางฉันสมอ หรือ พระไภษัชยคุรุ (ในนิกายมหายาน) ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูแห่งการแพทย์และยารักษาโรค ผู้มีรัศมีสีน้ำเงินดังไพลิน ผู้ศรัทธาบูชาจะนำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุข และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล จุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหาลาภ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและมอบครุยวิทยฐานะแก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2534
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ที่ปรึกษาโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษาฯ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน สักการะ “พระพุทธมหาลาภ” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ปัจจุบันพระพุทธมหาลาภประดิษฐาน ณ บริเวณด้านหน้าห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ชั้น 5 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์โดยถ้วนหน้าว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงงานหนัก อุทิศพระวรกายอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่เคยได้ทรงหยุดพัก ทรงทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและปวงชนชาวไทย บัดนี้ ในโอกาสที่พระองค์จะทรงมีพระชนมายุครบ 65 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2563 เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษาฯ จัดสร้างพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 65 นิ้ว และหอพระเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปถวายเป็นพระราชกุศล โดยนำต้นแบบมาจาก “พระพุทธมหาลาภ” ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อ 28 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ เพื่อสื่อความหมายโดยนัย ขอพระองค์ทรงพระเกษมสำราญ มีพระพลานามัยแข็งแรง และมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญของชาวมหาวิทยาลัยมหิดลและปวงชนชาวไทย ตราบนานเท่านาน

พระราชทานนาม “พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ” และ “หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์”

แบบจำลองพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ
แบบจำลองหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์

มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามพระพุทธรูปที่จะจัดสร้างนี้ ว่า “พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ” ซึ่งหมายถึง “พระพุทธรูปที่นำมาซึ่งปัญญาหยั่งรู้อันกระจ่างแจ้งและเป็นมงคลแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล” และพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย “ส.ธ.” มาประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ นอกจากนั้น ยังพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดสร้างหอพระเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ณ บริเวณด้านหน้าอาคารอำนวยการของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พระราชทานนามว่า “หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์” (ตามสร้อยพระนามาภิไธย) และพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย “ส.ธ.” มาประดิษฐานที่หน้าบันของหอพระเพื่อความเป็นสิริมงคลสืบไป

สนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างองค์พระและหอพระ โดย มูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา

พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ

พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ เป็นนามของพระพุทธรูปที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้กับชาวมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ 2 มกราคม 2563 ซึ่งมีความหมายว่า “พระพุทธรูปที่นำมาซึ่งปัญญาหยั่งรู้อันกระจ่างแจ้งและเป็นมงคลแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล” โดยนําแบบมาจาก “พระพุทธมหาลาภ” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ 8 พฤษภาคม 2535 มีลักษณะพระพุทธรูปโบราณในศิลปะไทยใหญ่ตามนิกายมหายาน ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ หงายพระหัตถ์ในลักษณะของปางฉันสมอ หรือ พระไภษัชยคุรุ ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูแห่งการแพทย์และยารักษาโรค ผู้มีรัศมีสีน้ำเงินดังไพลิน ผู้ศรัทธาบูชาจะนำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุข และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ” โดยได้พระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย “ส.ธ.” มาประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ด้วย

พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะของพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต โดยได้รับการประยุกต์แบบจาก “พระพุทธมหาลาภ” ให้มีความอ่อนหวานและสวยงามยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มฐานบัว ซึ่งมีลักษณะของบัวสัตตบงกช ซึ่งเป็นดอกบัวที่ชูดอกพ้นจากผิวน้ำ เพื่อสื่อความหมายว่า เป็นผู้ที่หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เป็นผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้เบิกบาน และมีผ้าทิพย์ประดิษฐานอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ทรงมงกุฏที่มีกรรเจียกขนาดใหญ่ มียอดมงกุฏแหลมสูง ตาบประดับกระบังหน้ามีขนาดเล็กแหลม ทรงเครื่องประดับรูปวงโค้งคลุมพระอุระลงมาถึงพระอุทร พระหัตถ์ทั้งสองขององค์พระอยู่ในท่าทางพิเศษ คือ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลาประคองผลไม้ทิพย์รูปทรงคล้ายดอกบัวในพระหัตถ์ ส่วนพระหัตถ์ขวากำลังแสดงการเปิดหรือแย้มผลไม้ทิพย์ องค์พระหล่อด้วยโลหะทองเหลืองปิดผิวด้วยทองคำและอัญมณี องค์พระมีความสูง 98 นิ้ว หน้าตักกว้าง 65 นิ้ว ศิลปินในการออกแบบคือ อาจารย์ ดร.สุพร ชนะพันธ์ และได้รับการปรับแต่งให้มีพุทธลักษณะที่งดงามและอ่อนช้อยมากยิ่งขึ้นโดย อาจารย์ มานพ อมรวุฒิโรจน์ อดีตนายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร โดยพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณจะประดิษฐานอยู่ ณ หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ ด้านหน้าอาคารอํานวยการ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยได้รับการสนับสนุนการจัดสร้างโดยมูลนิธิดร.เทียม โชควัฒนา นำโดย ดร.บุญเกียรติ โชควัฒนา และมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลฯ

พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ (จำลอง) และเหรียญพระ

นอกจากนี้แล้ว มหาวิทยาลัยยังได้รับพระราชานุญาตให้จัดสร้างพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 16 นิ้ว จำนวน 9 องค์ โดยประกอบด้วย องค์พระหล่อด้วยเนื้อบรอนซ์ 3 องค์ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 1 องค์ โดยมีการประดับอัญมณีและอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุบนพระเกศพระพุทธรูปเหมือนกับองค์พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ 65 นิ้ว และจะน้อมถวายเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 1 องค์ และอีก 1 องค์ ได้มอบให้มูลนิธิดร.เทียม โชควัฒนา และ คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานอุปถัมภ์โครงการฯ และองค์พระหล่อด้วยเนื้อทองเหลืองปิดทอง จำนวน 6 องค์ มหาวิทยาลัยได้นำถวายเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร 1 องค์ และจะนำถวายพระเทพปริยัติมงคล (ครูบาโอภาส โอภาโส) 1 องค์ มอบแก่สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล 1 องค์ และพระพุทธรูปอีก 3 องค์ มหาวิทยาลัยจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วิทยาเขตต่างๆของมหาวิทยาลัย ได้แก่ กาญจนบุรี นครสวรรค์ และอำนาจเจริญ

มหาวิทยาลัยได้รับพระราชานุญาตให้จัดสร้างพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว จำนวน 65 องค์ ประกอบด้วยพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลืองปิดทองคำ จำนวน 37 องค์ โดยมหาวิทยาลัยจะมอบให้ส่วนงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนงานละ 1 องค์ จำนวนทั้งสิ้น 33 องค์ เพื่อนำไปประดิษฐานที่ส่วนงานเพื่อให้บุคลากรและนักศึกษาของส่วนงาน รวมถึงประชาชนทั่วไปได้สักการะบูชา และ 4 องค์สำหรับผู้มีอุปการะคุณต่อมหาวิทยาลัยในการดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษาฯ และมหาวิทยาลัยได้จัดทำพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว หล่อด้วยเนื้อบรอนซ์ จำนวน 28 องค์ เพื่อมอบให้แก่ผู้บริจาคเงินสนับสนุนให้แก่มหาวิทยาลัยโดยผ่านมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มากกว่า 300,000 บาท โดยจะนำรายชื่อผู้บริจาคสลักบนด้านหลังหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์อีกด้วย

นอกจากนั้นยังได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดสร้างเหรียญที่ระลึก ออกแบบโดยคุณโสพิศ พุทธรักษ์ ประติมากรชำนาญการ กลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร และอาจารย์มานพ อมรวุฒิโรจน์ อดีตนายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้ช่วยทำการปรับปรุงแบบให้มีความงดงามสมพระเกียรติ เพื่อมอบเป็นที่ระลึกให้แก่ผู้ที่ร่วมบริจาคเงินให้กับมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนการดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษาฯนี้ โดยมีเหรียญทั้งหมด 3 ชนิด ประกอบด้วย เหรียญทอง (ตามที่สั่งจอง) โดยแยกเป็นเหรียญทองคำ 96.5% หนัก 5 สลึง เหรียญทองคำ 96.5% หนัก 2 สลึง เหรียญทองชมพู 52% หนัก 4 สลึง เหรียญเงิน จำนวน 5,000 เหรียญ และ เหรียญทองแดง จำนวน 30,000 เหรียญ โดยรวมเหรียญทองแดงพิเศษ (ชนวน) จำนวน 500 เหรียญด้วย สำหรับมอบให้เป็นของสมนาคุณแก่ผู้ร่วมบริจาคเงินให้กับมหาวิทยาลัยในการดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษาฯ

พิธีการจัดสร้างพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ

ในการจัดสร้างพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ ได้รับพระเมตตาจากเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานแผ่นทองทรงจารและชนวน สำหรับนำไปประกอบพิธีเททองยอดพระเกศและหล่อองค์พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ เมื่อ 24 มกราคม 2563 ณ ตำหนักอรุณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคมปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ ณ มณฑลพิธีหน้าสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อ 18 พฤษภาคม 2563 และได้มอบพระบรมสารีริกธาตุให้อัญเชิญไปบรรจุบนพระเกศของพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้ประทานให้แก่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ 7 ธันวาคม 2563

พระคาถาที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปริณายก ทรงจารลงแผ่นทองคำและอธิษฐานจิตลงบนแผ่นทองทรงจาร และชนวนโลหะประทานให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อนำไปทูลเกล้าฯถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในพิธีเททองหล่อพระเกศ พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ

มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเททองหล่อพระเกศ และทรงเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษก “พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ” เป็นการส่วนพระองค์ ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ ที่ 21 พฤศจิกายน 2563 โดยได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคมปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร จุดเทียนชัย และพระเทพมงคลญาณ (สนธิ์ อนาลโย) วัดพุทธบูชา ดับเทียนชัย

โดยมีคณะสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ประกอบด้วย
1. พระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก)
วัดบวรนิเวศวิหาร
2. พระเทพสังวรญาณ วิ. (จิรพล อธิจิตฺโต ป.ธ.7)
วัดบวรนิเวศวิหาร
3. พระเทพวิสุทธิกวี (ถาวร อธิวโร ป.ธ.4)
วัดบวรนิเวศวิหาร
4. พระเทพศากยวงศ์บัณฑิต (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)
วัดบวรนิเวศวิหาร
5. พระราชพุทธิมุนี (ม.ล.คิวปิด ปิยวิโรจโน ป.ธ.6)
วัดบวรนิเวศวิหาร
6. พระราชญาณปรีชา (สมจิตต์ อธิจิตฺโต ป.ธ.4)
วัดบวรนิเวศวิหาร
7. พระมหานายก (สังฆ์ อาภสฺสโร ป.ธ.5)
วัดบวรนิเวศวิหาร
8. พระศรีวิสุทธิกวี (ไฉน จิตฺตสุทฺโธ ป.ธ.9)
วัดบวรนิเวศวิหาร
9. พระมงคลสุทธิวงศ์ (ม.ร.ว.นันทวัฒน์ ชยวฑฺฒโน ป.ธ.3)
วัดบวรนิเวศวิหาร
10. พระครูพุทธมนต์ปรีชา (พระอาจารย์วิธาน อาวิธาโน)
วัดบวรนิเวศวิหาร
11. พระครูวิสุทธิธรรมภาณ (สาโรจน์ ปิยโรจโน)
วัดบวรนิเวศวิหาร

และมีคณะสงฆ์ปรกอธิษฐานจิต ประกอบด้วย
1. พระเทพมงคลญาณ วิ. (สนธิ์ อนาลโย ป.ธ.3)
วัดพุทธบูชา กรุงเทพมหานคร
2. พระเทพปริยัติมงคล (โอภาส โอภาโส)
วัดจองคำ จังหวัดลำปาง
3. พระราชสุรวาที (ณรงค์ ปภสฺสรวํโส ป.ธ.4)
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
4. พระภาวนาวิสุทธิโสภณ (สุรศักดิ์ อติสกฺโข)
วัดประดู่ จังหวัดสมุทรสงคราม
5. พระสุเมธมุนี (ลำพวน ธมฺมธโร ป.ธ.7)
วัดบึงลาดสวาย จังหวัดนครปฐม
6. พระครูปฐมวราจารย์ (อวยพร ฐิติญาโณ)
วัดดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม
7. พระครูวิมลญาณอุดม (ธรรมนูญ ฐิตวฑฺฒโน)
วัดมณีชลขันฑ์ จังหวัดลพบุรี
8. พระครูนนทมงคลวิศิษฐ์ (ศรี โอภาโส)
วัดอุทยาน จ.นนทบุรี
9. พระครูสมุทรพิทยาคม (ใจ ฐิตาจาโร)
วัดพระยาญาติ จ.สมุทรสงคราม

หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์

เป็นหอพระที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดสร้างขึ้นในโอกาสเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้รับพระราชทานชื่อหอพระฯ และพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญ พระนามาภิไธย ส.ธ. ประดิษฐานบนหน้าบันของหอพระฯ เมื่อวันที่ 2 มกราคม พุทธศักราช 2563 และได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พุทธศักราช 2563 ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์การจัดสร้างจากมูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา โดยการนำของ ดร.บุญเกียรติ โชควัฒนา และมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลฯ โดยจัดสร้างอยู่บริเวณหน้าอาคารอำนวยการ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ได้รับการออกแบบโดย อาจารย์ ดร.สุพร ชนะพันธ์ และปรับปรุงแบบเพิ่มเติมโดย อาจารย์ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญการ กรมศิลปากร สถาปนิกผู้ออกแบบพระเมรุมาศ สำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
โดยหอพระเป็นอาคารทรงมณฑปศิลปะไทยประยุกต์ ซึ่งลดทอนรายละเอียดให้มีความร่วมสมัย ผสมผสานสถาปัตยกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันได้แก่ ทรงเรือนยอดประยุกต์จากศิลปะพม่า เสาและบัวหัวเสาศิลปะเขมร กรอบประตูทางเข้าเป็นศิลปะจีน ฐานระเบียงมีลวดลายดอกไม้ศิลปะของมาเลเซีย หัวเสาราวบันไดเป็นศิลปะของชวา โดยมีขนาดฐานกว้าง 9.50 เมตร ยาว 9.50 เมตร ความสูงถึงยอดฉัตร 20.25 เมตร
ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ ขนาดหน้าตัก 65 นิ้ว บนฐานชุกชีปูนปั้น ฉากหลังตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมซุ้มเรือนแก้วลายพันธุ์พฤกษา และสัตว์หิมพานต์ที่เป็นมงคล แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ โดยอาจารย์มณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ด้านนอกมณฑปมีลานประทักษิณ กว้าง 2 เมตร ส่วนด้านหลังออกแบบเป็นทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ชั้นล่างสุดเป็นทางเดินปูด้วยหินเทียมโดยรอบ ขนาดกว้าง 3.00 เมตร รวมถึงออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม จัดสวนไม้ดอกไม้ประดับ ตามแนวคิด “พุทธอุทยาน” โดย ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก กรมศิลปากร เพื่อรองรับกิจกรรมทางด้านศาสนาและการพัฒนาจิตของบุคลากรและนักศึกษาในอนาคต รวมทั้งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเคารพสักการะของชาวมหาวิทยาลัยมหิดลสืบไป