
บทบาทของ
มหาวิทยาลัยมหิดล
กับอนาคต
ที่คาดหวัง
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลมีแผนการบริหารงานและการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก "Real World Impact" โดยให้การสนับสนุนทั้งด้านการศึกษา วิจัย นวัตกรรม การสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งจังหวัดน่านเป็นพื้นที่หนึ่งที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลายมิติ ทั้งด้านการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การส่งเสริมการผลิตพืชยา หรือทั้งด้านการส่งเสริมวัฒนธรรม ให้ประชาชนในจังหวัดน่านสามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและวัฒนธรรมในการดำรงชีพได้อย่างยั่งยืน


จากโครงการน่านแซนด์บอกซ์ การปลูกพืชยาใต้ต้นไม้ในป่า เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ คุณบัณฑูร ล่ำซำ จึงสนับสนุนการวิจัยพืชยา ทำให้เกิดการค้นหา "พืชยา" ทำให้มีการวิจัยอย่างจริงจัง ซึ่งโครงการน่านแซนด์บอกซ์ โดยสถาบัน เค อะโกร-อินโนเวท (K Agro-Innovate Institute: KAI) ภายใต้มูลนิธิกสิกรไทย ได้จัดหางบประมาณทำการวิจัย เพื่อการผลิตยาจากพืช อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เวชสำอางค์ ให้ทีมวิจัยดำเนินการพิสูจน์คุณประโยชน์ของพืชยา พัฒนาให้เป็นรูปแบบที่ทันสมัยไปถึงขั้นระดับนานาชาติ

โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยกับ มูลนิธิกสิกรไทย และ สถาบัน เค อะโกร-อินโนเวท ให้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการทางด้านวิชาการและการวิจัยในการพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมการเกษตร และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพร่วมกัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนบนพื้นฐานความต้องการและความพร้อมของทรัพยากรของจังหวัดน่าน อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในจังหวัดน่าน โดยทั้งสองหน่วยงานจะประสานความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งนำผลการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่การดำเนินการในเชิงพาณิชย์ตามเป้าหมาย เพื่อยกระดับรายได้ให้แก่ชุมชนในจังหวัดน่าน เป็นการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Goals) ในหลายประเด็น ได้แก่


จากข้อตกลงความร่วมมือนี้ มูลนิธิกสิกรไทย และ สถาบัน เค อะโกร-อินโนเวท ได้เข้ามาร่วมพัฒนา สถานที่ผลิตยา (โครงการอาคารศูนย์ฝึกปฏิบัติเพื่อความเป็นเลิศด้านผลิตภัณฑ์ยาและสมุนไพร : Pharmtop) ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นส่วนงานที่บริหารจัดการ และสถาบันเค อะโกร-อินโนเวท ได้ให้ทุนสนับสนุนเป็นจำนวน 80 ล้านบาท เพื่อพัฒนาทั้งสถานที่และสนับสนุนการวิจัยการผลิตยาจากพืชยา ให้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสังคม ปัจจุบันทางสถานที่ผลิตยาฯ ได้เปิดดำเนินการส่วนแรกในการผลิตเครื่องสำอาง (Cosmetic Plant) โดยได้รับอนุญาตจากอย. แล้ว ซึ่งสถานที่ผลิตในส่วนนี้มีแผนในการรับการตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์ Asian GMP และ ISO 22716 เพื่อให้สถานที่ผลิตเครื่องสำอางมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานสากล สำหรับบริเวณการผลิตยาแผนปัจจุบัน (Modern Medicine Plant) และบริเวณการผลิตยาสมุนไพร (Herbal Medicine Plant) อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการยื่นเอกสารและรับการตรวจประเมินเพื่อขออนุญาตเป็นสถานที่ผลิตต่อไป


ตัวอย่าง "พืชยา" ที่ได้รับการวิจัย เช่น ผักเชียงดา ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านคนเหนือ ถิ่นกำเนิดอยู่ที่อินเดีย เป็นสมุนไพรที่พิฆาตน้ำตาล ปัจจุบันชาวบ้านปลูกเป็นอาหารอยู่แล้ว จึงนำมาศึกษาและสกัดให้ได้สารสำคัญใส่แคปซูลทดสอบ และทำวิจัยทางคลินิก เพื่อนำไปขึ้นทะเบียนยาให้ได้มาตรฐาน อย. และคาดหวังว่าจะขายผลิตภัณฑ์ได้ตามต้องการ นอกจากนั้นจะเน้นพืชยาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง เช่น ขมิ้นชัน ใบบัวบก ฟ้าทะลายโจร ซึ่งจะมุ่งเน้นเป็นพืชยาที่สามารถปลูกไปกับป่า โดยสามารถเติบโตภายใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ในป่าได้

และใบบัวบกพันธุ์ศาลายา 1 เป็นอีกหนึ่งพืชยาที่ทางสถาบันเค อะโกร-อินโนเวท ภายใต้มูลนิธิกสิกรไทย ให้ความสนใจและนำไปทดลองปลูกเพื่องานวิจัยและสนับสนุนให้กับเกษตรกรจังหวัดน่าน โดย รศ. ดร. ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ และอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัย พัฒนาสายพันธุ์และทดลองปลูกบัวบกสายพันธุ์ใหม่ เป้าหมาย คือ การผลิตสมุนไพรที่มีคุณภาพ ใบบัวบกศาลายา 1 ได้รับการจดทะเบียนพันธุ์พืชจากกรมวิชาการเกษตร ตาม พรบ.พันธุ์พืช เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยใช้เทคนิคการเพิ่มชุดโครโมโซมของพืช เรียกว่า โพลีพลอยด์ (Polyploids) เพื่อให้ใบใหญ่ขึ้น การที่ทำให้ใบใหญ่ขึ้นสารที่อยู่ในใบก็จะเยอะขึ้น ซึ่งสารหลัก ๆ จะอยู่ที่ใบ สาระสำคัญทางยาในใบบัวบก คือ สารกลุ่มไตรเทอพีนอยด์ (Triterpenoids) มีสรรพคุณที่หลากหลาย เช่น บำรุงสมองเพิ่มการเรียนรู้ ลดความเครียด ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ สมานแผล เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว ส่งเสริมการสร้างเนื้อเยื้อ และอื่น ๆ

บัวบกพันธุ์ ศาลายา 1 เป็นผลผลิตจาการปรับปรุงพันธุ์และผ่านการทดสอบความคงตัวของสารพันธุกรรมหลังการปลูกในธรรมชาติจึงมีศักยภาพสูงในการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออกขาย เพื่อส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกร


เมื่อวันที่ 14 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2567 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ในจังหวัดน่าน เพื่อสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ ได้แก่
- โครงการคืนป่า-ทำยาจากพืช เพื่อสนันสนุนงานวิจัยและสร้างความร่วมมือกันทางวิชาการต่อไป
- ศูนย์การแพทย์รัตนนันทเวช โดยมูลนิธิรักษ์ป่าน่านฯ ซึ่งเป็นหัวใจในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของจังหวัด
- หอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ที่จะพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ และเป็นตัวอย่างในความพยายามลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
- ศูนย์วนเกษตร-พฤกษเภสัช ที่สถาบัน เค อะโกร-อินโนเวท ภายใต้มูลนิธิกสิกรไทย ได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน เพื่อร่วมกันจัดตั้งศูนย์วนเกษตร-พฤกษเภสัช บนพื้นที่ 30 ไร่ ให้เป็นศูนย์รวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกพืชยาในการสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับเกษตรกร เพื่อการฟื้นคืนกลับมาของป่าต้นน้ำน่าน

- โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ร่วมกับ สถาบันเค อะโกร-อินโนเวท จัดทำฐานข้อมูลพืชยาที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงและมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และบริบทของเกษตรกรจังหวัดน่าน พร้อมทั้งเตรียมการวางระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลและพื้นที่เกษตร/ป่าภายใต้แนวคิด "Multidisciplinary Ecosystem" ซึ่งจะทำให้การเลือกชนิดพืชยา และการจัดการพื้นที่แปลงปลูกมีประสิทธิภาพสูงสุด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำเกษตรสู่การปลูกพืชยามูลค่าสูง ในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ที่ใช้พื้นที่น้อย ช่วยให้ประชาชนอยู่ร่วมกับป่าต้นน้ำได้อย่างมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพด้วย



นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยมหิดลยังร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการโครงการ "จากรากสู่โลก: คติชนน่านตระการใจ" เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา ใน พ.ศ. 2570 เพื่อเก็บรวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูลทางวัฒนธรรมของจังหวัดน่านผ่านมิติคติชนวิทยา และเพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ข้อมูลคติชนน่านแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั้งในระดับชาติและนานาชาติ มุ่งอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมน่าน รวมถึงต่อยอดสร้างมูลค่าเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และก้าวข้ามกับดักความยากจน ซึ่งเป็นการพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนชาวน่านในมิติอื่น ๆ อีกด้วย

นิทรรศการเนื่องในวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2568
นิทรรศการ "ประชาชน พืชยา และป่าต้นน้ำ มหิดล x น่านแซนด์บอกซ์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน"
โดย ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์
หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
© Copyright 2025 Mahidol University Archives and Museums, All right Reserved