มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
มหาวิทยาลัยมหิดล ให้พันธสัญญาที่จะดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านการวิจัยและนวัตกรรม การศึกษา และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต โดยมุ่งให้การศึกษาและหลักการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างทัศนคติของบุคลากรและนักศึกษาให้ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างยั่งยืน และปลูกฝังแนวคิดการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากการพัฒนาด้านสุขภาพและด้านการศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้เล็งเห็นถึงปัญหาด้านหนี้สินของเกษตรกร ซึ่งเป็นต้นเหตุของความยากจน จึงได้มีโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดหนี้สิน ส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสามารถบรรลุศักยภาพของตนเอง ให้มีความเป็นอยู่อย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ ทั้งยังเป็นการสืบสานวิถีชีวิตของคนไทย รักษาวัฒนธรรมให้ไม่สูญหาย และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย
จากนโยบายการขยายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาคของรัฐบาลเมื่อ พ.ศ. 2538 มหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ได้มีการลงพื้นที่และจัดตั้งวิทยาเขตใน 3 จังหวัด ได้แก่ วิทยาเขตกาญจนบุรี วิทยาเขตนครสวรรค์ และวิทยาเขตอำนาจเจริญ โดยในปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหิดลได้อนุมัติให้ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นส่วนงานภายใต้สำนักงานอธิการบดี
วิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล มีวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรชั้นนำในด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการเรียนการสอนด้านวิชาการและการวิจัย เพื่อพัฒนาชนบทแบบบูรณาการในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
และมีพันธกิจที่จะสร้างและพัฒนาหลักสูตรให้มีมาตรฐานสากล เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพ ผลิตงานวิจัยเพื่อพัฒนาตามบริบทของพื้นที่ บริการวิชาการที่สอดคล้องความต้องการของชุมชน ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเพื่อความเป็นสุขของสังคม
จึงมีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนใน 4 หลักสูตร ได้แก่
- หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต
- หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์
- หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการสังคมและสิ่งแวดล้อม
- หลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์
เพื่อพัฒนาการศึกษาในภูมิภาคให้มีมาตรฐานและเข้าถึงความต้องการของท้องถิ่นได้ และปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพัฒนาหลักสูตรปริญญาโท คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชุมชนสุขภาวะและความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agent) เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงลึกตามบริบทพื้นที่อย่างยั่งยืน
ทั้งยังมีการส่งเสริมงานวิจัยและการบริการทางวิชาการ ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
จังหวัดอำนาจเจริญเป็นจังหวัดที่มีประชากรที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุดในปี พ.ศ.2561 ติดลำดับ 9 ใน 10 อันดับจังหวัดที่มีความยากจนที่สุดของประเทศไทย โดยสัดส่วนคนจนหรือสัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจน ร้อยละ 23.55 มีคนจนประมาณ 2,494 คน โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 1,361 คน (สำนักงานสถิติจังหวัดอำนาจเจริญ, 2563) และจากการศึกษาสำรวจข้อมูล ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท 14 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 2,471 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 11,620 คน ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และเกษตรกรรมและไม่มีอาชีพเสริม ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้มีผู้ว่างงานเพิ่มมากขึ้นและได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและมีหนี้สินเพิ่มขึ้น
จากพันธกิจในการพัฒนาชนบทแบบบูรณาการ ของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ จึงมุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based & Community) จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันดำเนินการโครงการส่งเสริมอาชีพการทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ดำเนินการในพื้นที่ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ระยะเวลาดำเนินการ 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2567 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จำนวน 720,000 บาท โดยมี อ. ดร.ไพรินทร์ ยอดสุบัน อาจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ เป็นประธานโครงการ ร่วมกับอาจารย์และบุคลากรจากวิทยาเขตอำนาจเจริญ จากหน่วยงานราชการ อาสาสมัคร และตัวแทนภาคประชาชน
จากการวิเคราะห์ชุมชนตําบลโนนหนามแท่งพบว่า
1. ตําบลโนนหนามแท่ง เป็นพื้นที่มีผู้ที่มีฐานะยากจนและขาดแคลนทุนทรัพย์จํานวนมาก ยังขาดความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ
2. ผู้ร่วมเรียนรู้ในพื้นที่ส่วนใหญ่มีพื้นฐานการทอผ้า และเห็นโอกาสในด้านการตลาดเนื่องจากอยู่ใน อําเภอเมืองและใกล้ศูนย์ราชการ
3. พื้นที่มีการคมนาคมสะดวก ห่างจากวิทยาเขตอํานาจเจริญเพียง 2 กิโลเมตร
4. เป็นพื้นที่ที่วิทยาเขตอํานาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมขับเคลื่อนในการพัฒนาพื้นที่โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องการจัดการเรียนการสอน การวิจัยและการบริการวิชาการ
5. เป็นพื้นที่ต้นแบบในการขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการ โดยมีโครงการที่วิทยาเขตอํานาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยร่วมดําเนินงานแล้วจนได้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบประเด็นผู้สูงอายุ คือโครงการวิจัยการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สําหรับผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลกลางวันสําหรับผู้สูงอายุตําบลโนนหนามแท่ง
มีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อ
1. พัฒนาทักษะด้านอาชีพในการทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์
2. พัฒนาหลักสูตรการส่งเสริมอาชีพทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อและยกระดับให้เป็นศูนย์เรียนรู้ระดับชุมชน
3. เพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทรัพย์
มีเป้าหมายของโครงการ
1. มีกลไกคณะทํางานในการส่งเสริมอาชีพสําหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในระดับตําบล
2. มีข้อมูลผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในชุมชน
3. มีชุดความรู้การส่งเสริมอาชีพทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อและยกระดับให้เป็นศูนย์เรียนรู้ระดับชุมชน
4. ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้น
5. ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์สามารถจัดทําบัญชีรายรับ - รายจ่ายครัวเรือน และมาวิเคราะห์เรื่อง รายรับ - รายจ่าย เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้
6. ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการ
โดยมีผู้ร่วมเรียนรู้ จํานวน 60 คน ประกอบด้วย เกษตรกร 29 คน ค้าขาย 2 คน บริการ 1 คน ผู้สูงอายุ 25 คน และผู้ว่างงาน 3 คน
ประกอบด้วย 3 แผนงาน ดังนี้
แผนงานที่ 1
เตรียมความพร้อมคณะทํางานและผู้ร่วมเรียนรู้
แผนงานที่ 2
การออกแบบกระบวนการเรียนรู้และสร้างโอกาสการเรียนรู้ของผู้ร่วมเรียนรู้
แผนงานที่ 3
ติดตามและเสริมสร้างพลังการเรียนรู้ร่วมของผู้ร่วมเรียนรู้ ชุมชน และภาคีเครือข่าย
ในช่วงการเตรียมความพร้อมของคณะทำงาน มีกระตุ้นให้เกิดคำถาม การวิเคราะห์ วางแผนกำหนดวิธีการแก้ปัญหา เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยการระดมสมองและหาข้อมูลสรุปร่วมกัน
การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ได้มีการไปศึกษาดูงาน ณ วิสาหกิจชุมชนตำบลคำพระ โดยมีครูภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบรรยายและสาธิตกระบวนการทอผ้า และศึกษาดูงาน ณ ศูนย์หม่อนไหมภูเขาขาม ที่เน้นการฝึกปฏิบัติในการปลูกผ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ผลิตเส้นไหม ในการศึกษาดูงานแต่ละแห่งจะเน้นให้ผู้ร่วมเรียนรู้ทดลองปฏิบัติ และอภิปรายสิ่งที่ได้เรียนรู้ เพื่อการออกแบบหลักสูตรต่อไป
ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยเรียนรู้ตั้งแต่ต้นน้ำการผลิตวัตถุดิบในการใช้ทอผ้า กลางน้ำคือการทอผ้าขิด ผ้าไหม ลายต่าง ๆ และปลายน้ำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าทอ รวมถึงการให้ความรู้ด้านการตลาดด้วย เป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพประกอบการออกแบบการเรียนรู้แบบ active learning โดยเน้นผู้เรียนเป็นสําคัญ สามารถเลือกเรียนในทักษะอาชีพที่สนใจ ผู้สอนทําหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง มีระบบเพื่อน ช่วยเพื่อน ฝึกทําซ้ำๆ จนเกิดทักษะและสามารถปฏิบัติได้จริง โดยการจัดการเรียนรู้ส่วนใหญ่จะจัดในชุมชน ซึ่งทําให้เกิดความสะดวกอย่างยิ่ง และมีการปรับกระบวนการเรียนรู้ตามบริบทพื้นที่ สอดคล้องกับปัญหา และความต้องการของผู้ร่วมเรียนรู้ เป็นการสร้างการเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตสําหรับคนทุกช่วงวัย ให้บรรลุเป้าหมายคือการมีรายได้เพิ่มขึ้น
ผลผลิตที่ได้
แนวทางการขยายผลและการต่อยอดโครงการ
1. เปิดศูนย์เรียนรู้การทอผ้าและแปรรูปผ้าขิดลายตะขอสลับเอื้อ ตําบลโนนหนามแท่งเป็นแหล่งเรียนรู้ ชุมชนสําหรับผู้ที่สนใจ เช่น ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แรงงานนอกระบบ ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว เด็ก เยาวชนที่ออกเรียนกลางคันและผู้สูงอายุ สามารถเข้ามาเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะอาชีพการทอผ้าและแปรรูปผ้าขิด ลายตะขอสลับเอื้อได้
2. โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอํานาจเจริญ สนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และ ทักษะอื่นๆ ให้กับผู้ร่วมเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตามปัญหาความต้องการ ถึงแม้จะสิ้นสุดโครงการแล้วก็ยังคง สนับสนุนและคอยเป็นพี่เลี้ยงหนุนเสริมกลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการตลาด และมีการประสานภาคี เครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
3. การบูรณาการสู่งานประจําของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
4. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่
ผ้าขิดมีลายมากถึง 72 ลาย มีลายที่น่าสนใจและเป็นมงคลกับผู้สวมใส่หลายแบบ
ซึ่ง “ลายตะขอสลับเอื้อ” เป็นอีกลายที่ได้รับความนิยม โดยมีความหมายดังนี้
เป็นลายที่เหมือนไม้ที่มีช่วงปลายงอเพื่อใช้เกี่ยวครุหรือถังน้ำสำหรับตักน้ำจากบ่อ หรือวัสดุที่มีลักษณะโค้งงอ ไว้สำหรับเกาะเกี่ยว แสดงถึงความสามัคคีปรองดอง
เป็นลายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่ซ้อนกันเป็นลายนูน หมายถึง ความเอื้อเฟื้อ ความเอาใจใส่ มีน้ำใจ
ดังนั้น “ลายตะขอสลับเอื้อ” จึงสื่อถึง
ความเอื้อเฟื้อ สามัคคี เกาะเกี่ยวเหนียวแน่นกัน
จังหวัดอำนาจเจริญได้ส่งเสริมให้ส่งผ้า “ลายตะขอสลับเอื้อ”
โดยนางคำกอง วันดี เข้าร่วมการประกวดผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ ของศูนย์ศิลปชีพบางไทร โดยเป็น 1 ใน 72 ลาย ที่ได้รับพระราชทานรางวัลชนะเลิศ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537
ปัจจุบันมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าขิดลายตะขอสลับเอื้อ ได้แก่
• เสื้อผ้า • ผ้าคลุมไหล่ • ที่รองแก้ว • กล่อง/กระเป๋าใส่กระดาษทิชชู่
• กรอบรูป • กระเป๋า • พวงกุญแจ • ปกใบประกาศนียบัตร
สำหรับช่องทางการขาย ได้มีการจัดตั้งร้าน “ฮักขอเอื้อ” ขึ้นที่บ้านของผู้ร่วมเรียนรู้ ซึ่งอยู่ติดกับถนนชยางกูร ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดอํานาจเจริญ ใกล้กับพระมงคลมิ่งเมือง เป็นสถานที่อำนวยความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้า รวมถึงมีช่องทางจำหน่ายออนไลน์ผ่าน Facebook เพจ Hug Kho Eue ผ้าขิดลายตะขอสลับเอื้อ ด้วย