logo copy
เสื้อครุยในประเทศไทย เริ่มมีการใช้มาเมื่อใดไม่แน่ชัด แต่มีหลักฐานการใช้งานในสมัยอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่มีการส่งคณะทูตจากสยามที่ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2228 โดยออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) ซึ่งต่อมาคือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี เป็นราชทูต และคณะ ได้แต่งกายตามประเพณีไทยอย่างเต็มยศ คือ สวมเสื้อเยียรบับ สวมลอมพอก และสวมเสื้อครุย ซึ่งได้มีชาวฝรั่งเศสได้วาดภาพคณะทูตบันทึกไว้ด้วย
 
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เคยประทานความคิดเห็นเรื่อง เสื้อครุย ไว้หลายวาระ พอสรุปได้คือ เสื้อครุย น่าจะได้มาจากแขกอินเดีย เพราะยังเห็นการแต่งกายที่คล้ายกันอยู่ แต่ไม่ทราบว่าอินเดียมีข้อกำหนดการใช้อย่างไรในการสวมเสื้อครุย สำหรับในไทยนั้นในสมัยก่อนอาจสวมแนบเนื้อ โดยไม่มีเสื้อด้านในด้วย มีวิธีสวมอยู่สามวิธี 1.สวมสองแขนแสดงว่าอยู่ในหน้าที่ 2.ม้วนคาดพุงแสดงว่าอยู่นอกหน้าที่ 3.สวมแขนเดียวอีกแขนหนึ่งพาดเฉียงบ่า แสดงว่าอยู่ในหน้าที่เข้ากรรม
 
นอกจากนั้นยังมีข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งว่า ชุดครุยแบบไทยนั้นมีลักษณะคล้ายเสื้อคลุมของเปอร์เซีย ที่เรียกว่าชุด โจบะ ด้วย (เสื้อสีฟ้าในภาพประกอบ)
ในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นได้มีข้อกำหนดในการใช้งานเสื้อครุยสำหรับส่วนราชการต่าง ๆ โดยรัชกาลที่ 1 ได้มีการตราพระราบัญญัติ จุลศักราช 1162 เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการแต่งกายขึ้น ความตอนหนึ่งว่า “…อย่างธรรมเนียมแต่ก่อนสืบมา จะนุ่งผ้าสมปักท้องนากแลใส่เสื้อครุยกรองคอ กรองต้นแขน กรองปลายแขน จะคาดรัดประคดหนามขนุนได้แต่มหาดไทย กลาโหม จตุสดมภ์ … ทุกวันนี้ข้าราชการผู้น้อยนุ่งห่มมิได้ทำตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน..แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า…ห้ามอย่าให้ข้าร้าชการผู้น้อยใส่เสื้อครุยกรองคอ กรองสังเวียน กรองสมรด … ใส่เสื้อครุยได้แต่กรองปลายมือ…”
 
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีประกาศเกี่ยวกับเสื้อครุย ในประกาศเรื่อง ตราตระกูลจุลจอมเกล้า พ.ศ. 2416 ความว่า “…ผู้ที่ได้รับพระราชทานตราปฐมจุลจอมเกล้า ให้มีสายสร้อยจุลจอมเกล้าสำหรับติดเสื้อครุยเมื่อแต่งเต็มยศอย่างใหญ่…” แต่ก็มิได้ระบุลักษณะของเสื้อครุยดังกล่าว และ พ.ศ. 2436 ได้มีพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า (ฝ่ายหน้า) ก็การกล่าวถึงระเบียบการใช้เสื้อครุยเช่นกัน
2
ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการตราพระกฎหมายเกี่ยวเสื้อครุยให้เป็นระเบียบมากขึ้น โดยทรงตราพระราชกำหนดเสื้อครุย พ.ศ. 2454 กำหนดการใช้ฉลองพระองค์ครุยสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ และเสื้อครุยสำหรับข้าราชการ โดยอย่างหลังนี้เรียกว่า เสื้อครุยเสนามาตย์ แบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นเอก ชั้นโท และชั้นตรี ซึ่งในพระราชกำหนดนั้นมีการระบุรายละเอียด ลำดับชั้น และการใช้งานอย่างละเอียด 
 
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2457 ได้มีการประกาศพระราชกำหนดเสื้อครุยเนติบัณฑิต สำหรับเชิดชูเกียรติผู้ที่สอบได้ประกาศนียบัตรเป็นเนติบัณฑิต ใช้สวมเมื่อผู้พิพากษาผู้เป็นเนติบัณฑิตขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดี นับเป็นเสื้อครุยวิทยฐานะชุดแรก ซึ่งเสื้อครุยเนติบัณฑิตแบบแรกนั้น เป็นเสื้อครุยอย่างไทย ทำด้วยผ้าโปร่งสีขาวมีสำรดติดขอบรอบต้นแขน ปลายแขนสำรดใช้ต่วนสีขาวทาบแถบทองขนาดกว้าง 1 เซนติเมตร 3 แถบ 5 มิลลิเมตร 4 แถบ โดยเสื้อครุยแบบนี้ได้งดพระราชทานไปหลังจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2479 มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นเสื้อครุยที่ใช้แพรหรือผ้าหรือเซิ้ดสีดำ เย็บเป็นเสื้อคลุมหลังจีบ ยาวเหนือข้อเท้าพอประมาณ มีแถบพื้นขาวลายทองพาดบ่าซ้าย ซึ่งเป็นเสื้อครุยวิทยฐานะอย่างตะวันตกแบบแรกของประเทศไทย และเป็นต้นแบบของเสื้อครุยวิทยฐานะที่ใช้อย่างตะวันตกของสถาบันต่าง ๆ ในประเทศไทยต่อมา