logo copy
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระนามาภิไธย “มหิดล” ให้เป็นนามใหม่ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 แล้ว ในปีนั้น มหาวิทยาลัยมหิดลได้ออกระเบียบเรื่องเสื้อครุยวิทยฐานะสำหรับปริญญาบัณฑิต (ชั้นต่าง ๆ ) ในประเภทวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้ลักษณะของเสื้อครุยวิทยฐานะเหมือนกับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ทุกประการ
          ต่อมาเมื่อได้รับพระราชทานพระวินิจฉัยเรื่องสีประจำมหาวิทยาลัยจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และรับพระราชทานตราประจำมหาวิทยาลัยจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แล้ว มหาวิทยาลัยได้ออกระเบียบใหม่ขึ้น โดยตราไว้ใน พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2513
โดยกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการเรียกชื่อปริญญาต่าง ๆ และมีการกำหนดลักษณะของเสื้อครุยวิทยฐานะ ไว้ในมาตรา 4 ดังนี้
ครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยมหิดล มีสามชั้น คือ
1. ครุยดุษฎีบัณฑิต ทำด้วยผ้าหรือแพรสีดำ เย็บเป็นเสื้อคลุม ยาวเหนือข้อเท้าประมาณ 15 เซนติเมตร หลังจีบ ตัวเสื้อผ่าอกตลอด มีแถบกำมะหยี่สีตามสาขาวิชากว้าง 12.5 เซนติเมตร เย็บติดเป็นสาบตลอดด้านหน้าทั้งสองข้างและโอบรอบคอเสื้อ ปลายแขนปล่อยกว้าง ยาวระดับข้อมือ ตอนกลางของแขนทั้งสองข้างมีแถบกำมะหยี่สีตามสาขาวิชากว้าง 5 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร พับปลายแถบเป็นมุมแหลม จำนวนสามแถบ ติดเรียงกันระยะห่าง 5 เซนติเมตร มีผ้าคล้องคอยาว 120 เซนติเมตร ด้านนอกทำด้วยผ้าหรือแพรสีดำเช่นเดียวกับเสื้อ ด้านในทำด้วยผ้าหรือแพรสีน้ำเงินและให้แลบเป็นขลิบกว้าง 1 เซนติเมตร ประกอบด้วยหมวกแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวด้านละ 25 เซนติเมตร ทำด้วยผ้าหรือสักหลาดสีดำ มีพู่ทำด้วยดิ้นทองให้ปลายห้อยพ้นปีกหมวกมาพอสมควร

2. ครุยมหาบัณฑิต เช่นเดียวกับครุยดุษฎีบัณฑิต แต่แถบกำมะหยี่สีตามสาขาวิชาที่เย็บติดเป็นสาบกว้าง 7.5 เซนติเมตร ตอนกลางของแขนทั้งสองข้างไม่มีแถบกำมะหยี่ ผ้าคล้องคอยาว 105 เซนติเมตร หมวกมีพู่ทำด้วยไหมสีดำ
 
3.ครุยบัณฑิต เช่นเดียวกับครุยมหาบัณฑิต แต่แถบกำมะหยี่สีตามสาขาวิชาที่เย็บติดเป็นสาบกว้าง 5 เซนติเมตร ผ้าคล้องคอยาว 90 เซนติเมตร
สำหรับสีแถบกำมะหยี่ตามสาขาวิชา ซึ่งมีการเพิ่มเติมสาขาวิชาขึ้นตามความต้องการของสังคม ในปัจจุบันได้ใช้สีประจำสาขาวิชา ตามระเบียบฯ พ.ศ. 2559  มี 21 สาขาวิชา แถบสีทั้งสิ้น 23 สี ดังนี้
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเข็มวิทยฐานะไว้ ดังนี้
เข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสําหรับผู้ได้ปริญญามีลักษณะเป็นรูปวงกลมดุนนูนเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร ทําด้วยโลหะลงยา พื้นสีน้ําเงินแก่ มีอักษรดุนนูนสีทองตอนบนว่า “อตฺตานํ อุปมํ กเร” และตอนล่างว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล” คั่นด้วยดอกประจํายามดุนนูนสีทองอยู่ในกรอบวงกลมดุนนูนสีทอง ตรงกลางมีรูปดุนนูนสีทองประกอบด้วยอักษร “ม” อยู่ภายใต้จักร ตรี และพระมหาพิชัยมงกุฎ
สำหรับชุดที่สวมอยู่ด้านในของเสื้อครุยวิทยฐานะ เมื่อแรกเริ่มของมหาวิทยาลัยมหิดลนั้นแต่งกายเหมือนกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยบัณฑิตชายสวมเครื่องแบบพิธีการ เป็นชุดสูทสากลสีขาว และบัณฑิตหญิงสวมชุดราตรียาวสีขาว
 
          ต่อมาระว่าง พ.ศ. 2516-2517 ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเครื่องแบบนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล  ได้มีเปลี่ยนการแต่งกายสำหรับบัณฑิตในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรด้วย โดยบัณฑิตชายสวมสูทสากลสีกรมท่า และใช้เนกไทสีกรมท่า ลายตรามหาวิทยาลัยกระจายอยู่ทั้งผืน และบัณฑิตหญิงสวมเครื่องแบบพิธีการ และโบว์ไทลายเดียวกับเนกไทของบัณฑิตชาย
 
          หลังจากนั้น พ.ศ. 2536 มีการปรับเปลี่ยนข้อบังคับว่าด้วยเครื่องแต่งกายของนักศึกษาอีกครั้ง ทำชุดของบัณฑิตมีการเปลี่ยนแปลงตามระเบียบไปด้วย โดยเปลี่ยนลักษณะของเนกไทและโบว์ไทเป็นแบบมีตรามหาวิทยาลัยเพียงตำแหน่งเดียว ซึ่งยังใช้ระเบียบมาจนถึงปัจจุบัน

          ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยได้มีการปรับเปลี่ยนข้อบังคับว่าด้วยเครื่องแต่งกายของนักศึกษาอีกครั้ง แต่ลักษณะของเครื่องแต่งกายปกติและเครื่องแต่งกายพิธีการยังใช้แบบเดิม แต่มีการอนุญาตให้นักศึกษาและบัณฑิตแต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิดได้ ดังนี้
 
“ข้อ 9 นักศึกษาอาจแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายนักศึกษาตามอัตลักษณ์ทางเพศ เพศสภาพหรือเพศสภาวะ ที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดก็ได้ โดยให้ถูกต้องตามข้อบังคับนี้

          การแต่งกายตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงการแต่งกายในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พิธีรับอนุปริญญาบัตร หรือประกาศนียบัตรด้วย”