logo copy
เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ประดิษฐานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2459 เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยนั้น ได้มีการเรียนการสอนสืบเนื่องกันมากระทั่ง พ.ศ. 2473 ในรัชกาลที่ 7 ได้มีการตราพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งมี 3 ชั้น และชั้นพิเศษ (ต่อมาเรียกว่าฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก) กำหนดลักษณะของเสื้อครุยชั้นต่าง ๆ อย่างละเอียด โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีเครื่องหมายสำหรับแสดงวิทยฐานะอีกอย่างหนึ่ง คือการประดับเข็มวิทยฐานะที่อกเสื้อ ซึ่งมีการประดับสืบทอดมาตั้งแต่ยังเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนอีกด้วย
          สำหรับพิธีประสาทปริญญาบัตรในระดับอุดมศึกษาครั้งแรกของประเทศไทยนั้นคือ เวชบัณฑิต หรือ บัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ ปัจจุบันคือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่สำเร็จการศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2471 และ พ.ศ. 2472 โดยมีบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 34 คน ซึ่งได้จัดพิธีขึ้น เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนั้น ได้มีการถวายฉลองพระองค์ครุยบัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีการพระราชทานเสื้อครุยกิตติมศักดิ์แก่ข้าราชการของมหาวิทยาลัยสองท่าน คือ บัณฑิตชั้นโท (มหาบัณฑิตในปัจจุบัน) ทางวิทยาศาสตร์ แก่พระยาภะรตราชาผู้บัญชาการ (เทียบเท่าอธิการบดีในปัจจุบัน) และบัณฑิตชั้นเอก (ดุษฎีบัณฑิตในปัจจุบัน) แก่ศาสตราจารย์ นายแพทย์เอลเลอร์ กัสติน เอลลิส คณบดีคณะแพทยศาสตร์ (ซึ่งต่อมาเป็นอธิการบดีคนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ด้วย
เสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี 3 ชั้น และชั้นพิเศษ
  • ชั้นเอก (ตรงกับ Doctor) เสื้อครุยผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบรอบ และต้นแขนปลายแขน สำรดใช้สักหลาดสีแดงชาด กว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทองกว้าง 1 เซนติเมตร ทาบทับบนริมทั้ง 2 ข้าง ห่างจากแถบทองด้านที่กล่าวแล้วมา 7½ มิลลิเมตร ติดแถบทองขนาดเล็ก กว้าง 5 มิลลิเมตร ทั้ง 2 ข้าง และห่างจากแถบทองเล็กนี้มาอีก 7½ มิลลิเมตร ติดแถบทองขนาด 1 เซนติเมตร ลงไปอีกทั้ง 2 ข้าง ตอนกลางติดแถบสักหลาดกว้าง 1 เซนติเมตร สีตามแผนกวิชชา และมีตราของมหาวิทยาลัยรูปพระเกี้ยวเงินติดทับบนสำรดตอนหน้าอกทั้ง 2 ข้าง
  • ชั้นโท (ตรงกับ Magister หรือ Master) แบบเดียวกับชั้นเอก แต่พื้นสำรดใช้สักหลาดสีดำแทนสีแดงชาด
  • ชั้นตรี (ตรงกับ Baccalaureus หรือ Bachelor) แบบเดียวกับชั้นโท แต่ตอนกลางสำรดใช้ลวดสักหลาดโต 2 มิลลิเมตร สีตามแผนกวิชชา แทนแถบสักหลาด
  • ชั้นพิเศษ เสื้อครุยผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบรอบ และต้นแขนปลายแขน สำรดใช้สักหลาดสีเหลือง กว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทองกว้าง 1 เซนติเมตร ทาบทับบนริมทั้ง 2 ข้าง ตอนกลางติดแถบทอง กว้าง 5 เซนติเมตร และมีตราของมหาวิทยาลัยรูปพระเกี้ยวเงินติดทับบนสำรดตอนหน้าอกทั้ง 2 ข้าง
          และมีการกำหนดแถบสีตามแผนกวิชชา 4 แผนกคือ
                   แพทยศาสตร์              สีเขียว
                   อักษรศาสตร์               สีเทา
                   วิทยาศาสตร์                สีเหลือง
                   วิศวกรรมศาสตร์         สีเลือดหมู
          สำหรับเครื่องแบบที่สวมอยู่ด้านในเสื้อครุยนั้น บัณฑิตชายแต่งชุดนิสิตสำหรับพิธีการ เป็นเสื้อขาวคอปิด กระดุม 5 เม็ด แผงคอสีตามแผนกวิชชาขลิบทอง นุ่งโจงกระเบนสีกรมท่า บัณฑิตหญิงแต่งกายชุดนิสิต เป็นเสื้อแขนยาวสีขาว กับผ้าถุงยาวสีกรมท่า
sdf
dddddddd
werg
dddf
dddd
          เข็มวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีต้นกำเนิดมาจาก เข็มโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเป็นผู้ที่ได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน โดยมีพระราชกำหนด เข็มโรงเรียนข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2457 กำหนดลักษณะเข็มเป็นรูปพระเกี้ยวตราโรงเรียนข้าราชการพลเรือนทำด้วยเงินล้วน และกำหนดวิธีติดไว้อย่างละเอียด เมื่อมีการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว จึงมีการแก้ไขพระราชกำหนด เข็มโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เป็นพระราชกำหนดเข็มจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2460 และต่อมามีการแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับเข็มวิทยฐานะ ในพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2498 โดยกำหนดให้เข็มวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตราพระเกี้ยวทำด้วยโลหะสีเงิน ขนาดสูง 5 เซนติเมตร และมีอักษรย่อประจำคณะหรือแผนกวิชาจารึกอยู่ที่ใต้ตราด้วย