เครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องอิสริยราชูปโภค

เครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องอิสริยราชูปโภค

เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องอิสริยราชูปโภค และพระแสงราชศาสตราวุธ ซึ่งจะทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ประกอบด้วย


๑. พระมหาพิชัยมงกุฏ หมายถึง ยอดวิมานของพระอินทร์ แสดงความเป็นเทวราชาของพระมหากษัตริย์
๒. พระแสงขรรค์ชัยศรี หมายถึง พระปัญญาอันจะตัดมลทินถ้อยความไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เห็นแจ้งทั่วทั้งโลกธาตุ และแสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นหัวหน้าแห่งนักรบด้วย
๓. ธารพระกรชัยพฤกษ์ หมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงบริหารแผ่นดินด้วยความสุขุมคัมภีรภาพดังผู้มีวัยวุฒิและทรงคุณธรรม
๔. วาลวิชนี ประกอบด้วยพัดใบตาลปิดทอง และพระแส้หางจามรี หมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้พัดพาความร่มเย็นและปัดเป่าผองภัยทั้งมวล ให้กับประชาราษฎรในพระราชอาณาจักร
๕. ฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นสัญลักษณ์แห่งการทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพในพระราชอาณาจักรที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไป

เครื่องอิสริยราชูปโภค เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและเป็นเครื่องประกอบยศด้วย สำหรับพระมหากษัตริย์จะประกอบด้วย


๑. พานพระขันหมาก เป็นพาน ๒ ชั้น รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีซองพลูและตลับสำหรับใส่หมาก ทำจากทองคำ


๒. พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ เป็นภาชนะบรรจุน้ำ มีฝาทรงยอดอย่างมณฑป ภายในลอยจอกทองคำ


๓. พระสุพรรณราช เป็นกระโถนใหญ่ปากบาน

  

๔. พระสุรรณศรี เป็นประโถนเล็กคล้ายรูปบัวแฉก

 

พระแสงราชศาสตราวุธ เป็นพระแสงสำคัญที่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทรงสร้างไว้สำหรับการพระราชพิธีสำคัญในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งจะทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้แก่ พระแสงขรรค์ชัยศรี พระแสงดาบฝักทองเกลี้ยง และพระแสงอัษฏาวุธ คือพระแสงสำคัญ ๘ อย่าง ได้แก่ พระแสงจักร พระแสงตรีศูล พระแสงหอกเพชรรัตน พระแสงดาบเชลย พระแสงธนู พระแสงดาบเขน พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย ส่วนพระแสงสำคัญองค์อื่น ๆ อันได้แก่ พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงดาบใจเพชร พระแสงดาบเวียด พระแสงฟันปลา พระแสงหัตถ์นารายณ์ พระแสงดาบนาค ๓ เศียร และพระแสงดาบญี่ปุ่น เป็นต้น ประดิษฐานอยู่ที่พระแท่นมณฑลพิธีในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล

งานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
ห้อง ๓๐๑ ชั้น ๓ อาคารศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
ถ.พุทธมณฑลสาย ๔ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ๗๓๑๗๐
โทร ๐-๒๘๔๙-๔๕๔๑-๒
โทรสาร ๐-๒๘๔๙-๔๕๔๕