เมื่อครั้งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์สิ้นพระชนม์ พระชายา “หม่อมสังวาลย์” เพิ่งจะอายุได้ 29 ปีต้องอภิบาลพระโอรสธิดาที่ยังทรงเยาว์ถึง 3 พระองค์ โดยสมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงให้สิทธิ์ “หม่อมสังวาลย์” เลี้ยงดูอบรมสั่งสอนพระราชนัดดาทั้งสามพระองค์ โดยจะไม่ทรงก้าวก่าย ด้วยทรงเชื่อมั่นในความฉลาดและความมีสติของพระสุณิสาเป็นอันมาก ซึ่ง “หม่อมสังวาลย์” ได้เลี้ยงดูพระโอรสธิดาอย่างสมัยใหม่ ถูกหลักอนามัย ตามที่ได้เคยศึกษามาจากต่างประเทศ ไม่ได้ใช้ระเบียบโบราณ เมื่อพระโอรสธิดาทรงเจริญวัยขึ้น ก็โปรดให้ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนร่วมกับสามัญชน
ในปี พ.ศ. 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้เกิดการเปลี่ยงแปลงของครอบครัวมหิดล ด้วยสมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงเป็นห่วงความเป็นอยู่ การศึกษา และพระสุขภาพของพระราชนัดดา จึงทรงปรึกษากับเจ้านายที่ใกล้ชิด รวมถึง “หม่อมสังวาลย์” ความสรุปว่าจะส่งพระราชนัดดาไปทรงศึกษาต่อ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีอากาศดี ภูมิประเทศสวยงาม พลเมืองมีอัธยาศัยดี และยังเป็นเมืองที่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ โปรดมากอีกด้วย โดยประทับที่แฟลตเลขที่ 19 ถนน ดิสโชต์ และให้พระโอรสธิดาเสด็จไปทรงเรียนหนังสือที่โรงเรียนประถมเมียร์มองต์
ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับครอบครัวมหิดลอีกครั้งหนึ่ง ด้วยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ และรัฐบาลในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระเชษฐภคินีและพระอนุชาได้เลื่อนพระฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าฟ้า และ “หม่อมสังวาลย์” พระราชมารดา ได้เปลี่ยนพระนามเป็น “พระราชชนนีศรีสังวาลย์” จากนั้นพระราชชนนีได้ย้ายที่พักเพื่อให้สมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ แต่ก็กระทำโดยการประหยัด และได้เลือกบ้านหลังหนึ่งในเมืองพุยยี่ และตั้งชื่อบ้านนั้นว่า วิลล่าวัฒนา โดยทรงอภิบาลพระโอรสธิดาทุกพระองค์ โดยใช้หลักการเลี้ยงดู คือ 1. เด็กต้องมีอนามัยที่สมบูรณ์ 2. ต้องอยู่ในระเบียบวินัย โดยไม่บังคับเข้มงวดเกินไป 3. ต้องเป็นคนดี และอีกข้อที่สำคัญคือ ต้องมีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ ซึ่งผลการเลี้ยงดูพระโอรสธิดา ก็ได้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวไทยแล้วว่า ได้ทรงอภิบาลพระโอรสธิดาให้ทรงเจริญพระชนม์ขึ้นเพื่อประกอบกิจอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างเป็นอเนกประการ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครพร้อมพระประยูรญาติเป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ประชาชน พร้อมกับทรงศึกษาและซึมซับความเป็นไทยให้มากขึ้นด้วย และในครั้งนั้น ได้สถาปนา “พระราชชนนีศรีสังวาลย์” ที่ยังถือเป็นสามัญชน ขึ้นเป็นเจ้านายที่ “สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์” ซึ่งเป็นการสมควรตามพระราชประเพณี และทำให้เห็นว่าราชวงศ์และรัฐบาลยอมรับในพระราชจริยวัตรและพระปรีชาสามารถในการอภิบาลเลี้ยงดูยุวกษัตริย์ให้ทรงเจริญพระชนม์ได้เป็นอย่างดี หลังจากประทับอยู่ในประเทศไทยได้ 2 เดือน ก็เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามเดิม
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครพร้อมด้วย สมเด็จพระบรมราชชนนีและพระราชอนุชา ในปี พ.ศ.2488 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เป็นที่จดจำให้แก่พสกนิกรชาวไทย เช่น พิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรสำเพ็ง การพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นต้น และเตรียมจะเสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เพื่อทรงศึกษาต่อก่อนจะทรงกลับมาประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ในวันที่ 9 มิถุนายน ปีเดียวกันนั้น เกิดเหตุอุปัทวเหตุต้องพระแสงปืนสวรรคต โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติกราบบังคมทูลเชิญพระราชโอรสพระองค์เล็กใน“สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์” คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็น พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
พระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั้นมีมากมายเหลือคณานับยากที่จะกล่าวได้หมดดังที่คนไทยรับทราบอยู่แล้ว เป็นผลมาจากการเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน ฝึกฝน และส่งผ่านพระปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนกมาจากสมเด็จพระราชชนนีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยทรงระลึกถึงพระเดชพระคุณในสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2513 จึงได้มีการเฉลิมพระนามพระอัฐิ สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และเฉลิมพระนามสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์เป็น “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” และตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการสาธารณสุขให้กับชาวไทยในชนบท แม้หลังจากเสด็จสวรรคต ในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 แล้ว ก็ยังได้รับการสืบสานพระปณิธานจนถึงปัจจุบัน