มรดกความทรงจำ
The Memories
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
แม่พิมพ์สำหรับยาเม็ดพิมพ์อัด
แม่พิมพ์สำหรับยาเม็ดพิมพ์อัด ใช้ในการเตรียมยาเม็ดขนาดเล็กที่ทำได้ด้วยมือ และใช้ประโยชน์รักษาผู้ป่วยกันมานานก่อนที่จะมีเครื่องตอกยาเม็ดที่ใช้มือหมุนและเครื่องตอกยาเม็ดแบบไฟฟ้าที่ใช้ในอุตสาหกรรม คิดค้นโดย Dr. RM Fuller ชาวมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1878 ในตำราต่างประเทศแนะนำให้ทำแม่พิมพ์จากพลาสติก ยางแข็ง โลหะ หรือ ลูไซท์ (Lucite)
เมื่อเริ่มก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลที่ถนนศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2512 ศาสตราจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร คณบดีในขณะนั้น ได้จ้างบริษัทเอกชนทำแม่พิมพ์ขึ้นในประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณ โดยใช้วัสดุที่เป็นพลาสติก ในครั้งนั้นสั่งทำจำนวน 25 หน่วย ราคาหน่วยละ 200 บาท คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สอนนักศึกษาเภสัชศาสตร์ให้สามารถทำยาเม็ดพิมพ์อัดมาตั้งแต่ครั้งเมื่อเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และสอนเรื่อยมาจนปัจจุบัน เพื่อให้นักศึกษาทดลองเตรียมยาเม็ดด้วยมือซึ่งเป็นพื้นฐานความรู้ในการทำยาเม็ด และสามารถพัฒนาใช้ประโยชน์บางประการในโรงพยาบาล
แม่พิมพ์ที่ใช้ในการเตรียมยาเม็ดพิมพ์อัด ประกอบด้วยแผ่นแม่พิมพ์ 2 แผ่น แม่พิมพ์แผ่นบนมีรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5 มิลลิเมตร จำนวน 50 รู และแม่พิมพ์แผ่นล่างมีหมุดที่มีจำนวนและขนาดพอดีกับรูของแม่พิมพ์แผ่นบน
จุดประสงค์หลัก
แม่พิมพ์สำหรับยาเม็ดพิมพ์อัดจึงเป็นอุปกรณ์ที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์แบบเศรษฐกิจพอเพียงบนหลักวิชาการสำหรับการศึกษาเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล
เรื่องโดย รองศาสตราจารย์ ดร. บุษบา จินดาวิจักษณ์ ภาควิชาเภสัชกรรม
ตำรายาสมุนไพรจารบนใบลาน
ตำรายาแผนโบราณชุดนี้ศาตราจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ (ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2515 – 2526) มอบให้ห้องสมุดคณะเภสัชศาสตร์ มิได้ระบุที่มา หรืออายุ แต่จากสำนวน และลักษณะตัวอักษร ตลอดจนสภาพของวัตถุที่ใช้ สรุปว่าเป็นตำราเก่าแก่มาก ตำราที่จารลงบนใบลานมีจำนวน 3 ผูก และเขียนบนกระดาษสาอีก 1 ชุด
ฉบับที่จารบนใบลาน ลายมือผู้จารสวยงามมาก ขึ้นต้นด้วยบทนำที่กล่าวถึงความห่วงใยของพระพุทธเจ้าต่อโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน เช่น
“ จะกลาวถึงเมืองชมพูทวีบ เอาเนิอความเก่ากราบทุนพระพุทธิเจ้า ว้าฝูงคนในเมืองชมพูทวีบ วาเทวะดาทัง 8 พระองค์นิ้ให้โทดแกมนุดทังหลาย ให้ตกทุขได้ยาก ให้เจบปวดโทษต่าง ๆ พระพุทธองจึงวาแก่เทวดาทัง 8 ก็ไม่ฟังให้คุณแลโทษอยู่เนือง ๆ สมเดจพระพุทธิเจ้า จึงให้พระโมคะลา ไปถามเทวดาทัง 8 ว่าจะทำเปนประกานใด จิงจ่พ้นโทษพระอาทิตย์ก็ถวายนมัศการกราบทูนว้าเมืองข้าฯจะเข้าเสวยอายุนัน ให้เอาไบลักขาว1 ไบทองหลางไบมน 1 จันทัง7 ฝักส้มป่อย 1 ตมสหัวหายแล ฯ พระจันลงมาว่า ฯ ข้า ฯ จเสวยอายุนันให้เอาเปลือกทอง 1 ไบมยม 1 ไบขนุน 1 ฝักส้มปอย 1 ตมสหัวหาฯ...”
ตำรายาโบราณชุดนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์ในคณะเภสัชศาสตร์ สนใจเรื่องสมุนไพรและดำเนินกระบวนการวิจัยพิสูจน์สรรพคุณตำรายาสมุนไพร จัดตั้งสำนักงานข้อมูลสมุนไพร และสวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติเพื่อการอนุรักษ์ พัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและวงการสาธารณสุขต่อไป
เรื่องโดย รศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์
เครื่องตอกยาเม็ดสากเดี่ยว
เครื่องตอกยาเม็ดสากเดี่ยว เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอนปฏิบัติการของภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มีจุดประสงค์เพื่อให้นักศึกษามีทักษะในการตอกยาเม็ดด้วยเครื่องตอกยาเม็ดแบบมือหมุนอย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า และสามารถประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ให้พร้อมตอกยาเม็ดได้ ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรมได้สั่งเครื่องตอกชนิดนี้เข้ามาในห้องปฏิบัติการ พ.ศ. 2516 จำนวน 10 เครื่อง
จากการที่เป็นนักศึกษารุ่นแรกของคณะฯ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 40 คน ใน พ.ศ. 2516 ขณะที่อยู่ชั้นปีที่ 5 ภาคการศึกษาแรก ข้าพเจ้ามีความประทับใจที่ได้ฝึกปฏิบัติการเภสัชอุตสาหกรรมเรื่องเครื่องตอกยาเม็ด และตำรับยาเม็ดหลากหลายตำรับ เป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยอาศัยเครื่องตอกยาเม็ดแบบมือหมุนใหม่ๆ สดๆ ด้วยความสนุกและได้ความรู้เป็นอย่างมาก ปัจจุบันนี้ก็ยังใช้เครื่องตอกมือหมุนแบบนี้สอนปฏิบัติการให้แก่นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ด้วยความสนุกสนาน แม้ว่าเครื่อง 10 เครื่องดังกล่าวรุ่นแรก จะถูกแทงจำหน่ายไปเกือบหมดแล้วก็ตาม
เรื่องโดย รศ. ดร. สมบูรณ์ เจตลีลา ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.