มรดกความทรงจำ

The Memories

คณะสาธารณะสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


โครงการสนองพระราชดำริและพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ถังหมักแก๊สชีวภาพ ณ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา”

เมื่อปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำริและพระราชประสงค์

ผ่าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์เทพนม เมืองแมน คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับงานพัฒนาอนามัยของชาวเขา ซึ่งมีปัญหาด้านการขนส่ง และความเสียหายเกี่ยวกับวัสดุ เช่น ส้วมราดน้ำคอห่าน อ้างล้างมือ มักมีน้ำหนัก แตกหักง่าย ควรหาวัสดุอื่นที่มีน้ำหนักเบา แตกหักยาก จะช่วยให้ชาวเขาจัดหาได้โดยง่ายและสะดวกขึ้น จึงได้ให้ ภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม โดยศาสตราจารย์พิชิต สกุลพราหมณ์ จัดทำโครงการทดลองผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ทางสุขาภิบาลบางชนิดด้วยไฟเบอร์กลาสสนองพระราชดำริและพระราชประสงค์ โดยได้จัดสร้างส้วมราดน้ำคอห่านไฟเบอร์กลาส 36 ชุด อ่างล้างมือไฟเบอร์กลาส 12 ชุด และน้ำพุดื่มไฟเบอร์กลาส 12 ชุด ทูลเกล้าฯถวาย ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2521

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ผ่านเลขาธิการสำนักพระราชวัง ที่จะให้สร้างชุดเครื่องหมักแก๊สชีวภาพไว้ที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อใช้เป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรโคนมและผู้ที่เข้าชมงานได้ศึกษาเป็นแบบอย่างและนำไปสร้างใช้สำหรับครอบครัว เพื่อใช้ผลิตเชื้อเพลิง และปุ๋ยอินทรีย์ ขึ้นใช้สำหรับครัวเรือน ภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม จึงได้ออกแบบและก่อสร้างถังหมักแก๊สชีวภาพ แบบถังลอย ทูลเกล้าฯ ถวายในวันพืชมงคล 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 โดย China Medical Board สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างชุดเครื่องหมักแก๊สชีวภาพแบบถังลอย แก๊สชีวภาพสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินได้เป็นอย่างดี จึงได้สร้างชุดเครื่องยนต์ใช้แก๊สชีวภาพพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 ชุด และได้พัฒนารูปแบบถังหมักแก๊สชีวภาพจาก แบบถังลอย เป็นถังหมักแก๊สชีวภาพแบบถังรูปโคม ทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อใช้เป็นต้นแบบ ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เมื่อวันพืชมงคล พ.ศ. 2526

ในปี พ.ศ. 2553-2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างถังหมักแก๊สชีวภาพ เพื่อผลิตแก๊สเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในการหุงต้มของกิจการครัว-โรงอาหาร โรงเรียนจิตรลดา ทางโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการสนองพระราชดำริ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณพิชิต สกุลพราหมณ์ เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตแก๊สชีวภาพเพื่อใช้ในกิจการของโรงเรียนได้เพียงพอโดยไม่ต้องใช้แก๊สแอลพีจี และสามารถใช้เป็นที่สาธิตแก่นักเรียนและผู้ปกครองได้อีกด้วย

การฝึกภาคสนามของนักศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยึดมั่นในปรัชญาตามพระบรมราโชวาทของสมเด็จพระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย” ที่เน้นถึงประโยชน์ส่วนรวม “ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศ จะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”

(พระราชหัตถเลขาในสมเด็จพระราชบิดา ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471

ที่พระราชทานแก่นายสวัสดิ์ แดงสว่าง นักเรียนทุนส่วนพระองค์)

งานสาธารณสุข เป็นงานที่ต้องสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ จึงถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้นักศึกษารวมถึงอาจารย์ของคณะฯ ทุกระดับให้รู้ถึงภาวะเสี่ยงของประชาชนส่วนใหญ่ และเล็งเห็นวิถีทางในการช่วยเหลือ สนับสนุน ให้ประชาชนสามารถปลอดจากภาวะเสี่ยงที่จะเกิดโรค และสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีความสมบูรณ์แข็งแรง

การฝึกภาคสนามของนักศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500

ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการฝึกภาคสนาม จาก Categorical approach เป็นแบบ Multidisciplinary approachlesiy โดยเนื้อหาของการฝึกจะเลือกเอาเรื่อง “พัฒนาอนามัยชนบทเบ็ดเสร็จ” เป็นหลักโดยกำหนดให้นักศึกษาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ ชั้นปีสุดท้ายทุกหลักสูตรต้องออกฝึกภาคสนามในชนบทโดยเข้าไปพักอาศัยในหมู่บ้าน 6 สัปดาห์   ในท้องที่ของจังหวัดจังหวัดต่างๆ โดยเริ่มที่ท้องที่ของจังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดแรก   “การฝึกปฏิบัติงานพัฒนาอนามัยชนบทเบ็ดเสร็จ” กำหนดให้มีการค้นหาปัญหาในรูปแบบของปัญหาสุขภาพอนามัยของคนในชุมชน วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา หรือปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดปัญหาโดยละเอียด ใช้วิธีการทางห้องทดลองมาช่วยมากขึ้น รวมทั้งเชื่อมโยงระหว่างปัญหาสุขภาพ หรือโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น นักศึกษาวางแผนแก้ปัญหาโดยอาศัยวิทยากรทั้งที่เรียนมาตามทฤษฎี และสภาพในท้องถิ่นโดยมุ่งที่ตัวปัญหา และใช้ความสามารถในวิชาชีพประยุกต์สำหรับวางแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นการประสานกันทั้งด้านวิชาการ การลงแรงปฏิบัติ และแนวความคิดเห็น ทั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้สำนึกถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่ครบวงจรทั้งด้านการป้องกัน ควบคุมโรค และส่งเสริมสุขภาพ การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสมรรถนะของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกพระบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย

“หม่อมฉันรู้สึกอยู่เสมอว่า การสาธารณสุขนั้น เป็นของสำคัญ เป็นสิ่งบำรุงกำลังของชาติไทย เป็นสาธารณประโยชน์แก่มนุษยชาติทั่วไปด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสอันใดที่หม่อมฉันพอที่จะช่วยออกกำลังกาย ปัญญา หรือทรัพย์ อันเป็นทางที่จะทะนุบำรุงให้การนั้นเจริญขึ้นแล้วหม่อมฉันยินดีปฏิบัติได้เสมอ”

( ข้อความตอนหนึ่ง ในพระราชหัตถเลขาในสมเด็จพระราชบิดา

ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2468 ที่ทรงมีไปกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร)

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงพระราชทานทุนการศึกษาวิชาแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข ณ ต่างประเทศ เพื่อให้กลับมาเป็นอาจารย์สอนนักเรียนแพทย์ต่อไป แพทย์ผู้รับทุนของสมเด็จพระบรมราชชนก ได้สำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกินส์ และได้กลับมาร่วมเป็นแกนสำคัญก่อตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ต่อมา 2 ท่าน คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม พรมมาส และศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง

“ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศ จะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”

(พระราชหัตถเลขาในสมเด็จพระราชบิดา ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471

ที่พระราชทานแก่นายสวัสดิ์ แดงสว่าง นักเรียนทุนส่วนพระองค์)

เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี แห่งวันพระราชสมภพของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 รัฐบาลได้จัดให้มีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติตลอดปีพ.ศ. 2535     ซึ่งในวาระการเฉลิมฉลองดังกล่าว คณะสาธารณสุขศาสตร์ โดยการดำริของศาสตราจารย์ นายแพทย์เทพนม เมืองแมน คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ จึง เห็นสมควรจัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ฯ ของพระองค์ท่านประดิษฐ์สถาน ไว้ ณ บริเวณหน้าอาคาร 1 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นเฉลิมพระเกียรติพระราชกรณียกิจด้านการสาธารณสุข เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ อันประจักษ์ผลแห่งคุณค่ามหาศาล ในวงการสาธารณสุข ซึ่งกรมศิลปากร ได้เป็นผู้ดำเนินการออกแบบและปั้นหล่อพระรูปแบบนั่ง ขนาดประมาณ 2 เมตร หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ มีพระเก้าอี้และส่วนประกอบอื่น ๆ

การก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์ ฯ คณะสาธารณศุขศาสตร์ ได้รับ พระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบในการก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์ฯ พระองค์ละ 300,000 บาท

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2535 เวลา 08.00 น . สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

. ในระหว่างการก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์ ฯ เครือข่ายสถาบันการศึกษาสาธารณสุขศาสตร์ 4 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันเสนอขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการถวายพระราชสมัญญาสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็น “พระบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย” และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย” (ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล 0003/2883 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536)

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2538 เวลา 10.30 น. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดประดิษฐถานพระราชานุสาวรีย์ฯ   เพื่อให้บุคลากร นักศึกษาและประชาชนได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย”

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.