มรดกความทรงจำ
The Memories
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สมุดทะเบียนรายชื่อผู้เข้าศึกษาโรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์แลการพยาบาลไข้ฯ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อย้อนหลังไป 115 ปี โรงเรียนพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม พุทธศักราช 2439 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้งสถานศึกษาผดุงครรภ์และการพยาบาลขึ้น มีชื่อครั้งแรกว่า “โรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์แลการพยาบาลไข้ของสมเด็จพระนางเจ้าพระอรรคราชเทวี” ซึ่งต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ”
ในปีพุทธศักราช 2453 และในปีพุทธศักราช 2456 โรงเรียนพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทยได้จารึกในสมุดทะเบียนรายชื่อผู้เข้าศึกษาในโรงเรียนฯ ปรากฎพระนามาภิไธยของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นนักเรียนพยาบาล เลขที่ 79 ตามพระนามเดิม “สังวาลย์ ตะละภัฏ” ในสมัยนั้นผู้หญิงไม่ได้รับการสนับสนุนให้เข้าศึกษาตามโรงเรียนมากนัก ผู้หญิงที่มาเรียนจึงมีน้อยมาก และบางคนไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เด็กเข้ามาเรียนที่โรงเรียน จึงมีการให้เงินเดือนๆ ละ 15 บาทต่อคน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขณะนั้นทรงศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยา ประถมปีที่ 3 ทรงมีพระชนมายุ 13 พรรษา ทรงประทับอยู่ที่บ้านพระยาดำรงแพทยาคุณ แพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้กราบบังคมทูลให้เข้าศึกษาในวิชาพยาบาลนี้ พระองค์ทรงรับตามคำชวนและเข้าศึกษา ซึ่งไม่ได้เข้าตอนต้นปีการศึกษา และทรงเป็นนักเรียนที่มีพระชนมายุน้อยที่สุดในโรงเรียน แต่ทรงมีพระปฏิภาณเฉลียวฉลาดทรงรับการศึกษาได้ดีกว่านักเรียนพยาบาลทุกคนในทุกๆ ชั้นปีที่ทรงศึกษา และยังเป็นที่รักและไว้วางใจของบรรดาผู้ที่อยู่ร่วมสถาบันเดียวกัน ทั้งฝ่ายแพทย์และพยาบาล พระองค์ทรงใช้วิชาการพยาบาลอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดา และมีพระกรุณาโปรดเกล้าจัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) แก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร พระราชกรณียกิจนานับประการของพระองค์ยิ่งใหญ่แผ่ไพศาลแก่ปวงชนชาวไทย เหล่าพยาบาลซาบซึ้งในพระเกียรติยศสูงสุดพร้อมใจกันน้อมเกล้ารับพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่เหล่าพยาบาลเป็นหลักในการปฏิบัติวิชาการพยาบาลตลอดไป ดังความว่า
“สัมมาอาชีโว การหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ การพยาบาลเป็นการหาเลี้ยงชีพโดยชอบและเป็นการหาเลี้ยงชีพในทางที่สูงมากอันหนึ่ง ในเมื่อพยาบาลมีจิตใจเมตตาสูงต่อคนไข้อย่างแท้จริง”
ชุดแต่งกายของพยาบาลยุคแรก
ชุดแต่งกายของพยาบาลในยุคเริ่มแรกของโรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์แลการพยาบาลไข้ของสมเด็จพระนางเจ้าพระอรรคราชเทวี ในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องแบบ ทุกคนแต่งกายกันตามสมัยนิยม คือ ในชั้นปีที่ 1 นุ่งผ้าซิ่นหรือโจงกระเบน แต่ส่วนใหญ่นิยมนุ่งโจงกระเบนใช้ผ้าพื้นสีต่างๆ ใส่เสื้อสีขาว แขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้ ชั้นปีที่ 2 ต้องขึ้นฝึกปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย (โรงคนไข้) จะมีเอี๊ยมสีขาวกันเปื้อนผูกทับบนเสื้อผ้า ซึ่งในขณะที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงศึกษาที่โรงเรียนพยาบาลฯ พระองค์ทรงแต่งกายชุดนักเรียนพยาบาล เพราะขณะนั้นยังไม่มีเครื่องแบบพยาบาล
เมื่อสำเร็จการศึกษา นุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้อผ้าปักดอกไม้แขนยาวมีปลายพองๆ และลูกไม้จีบ สะพายแพรจีบปักไหมสีทอง
ประกาศนียบัตรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเข้าศึกษา เมื่อปีพุทธศักราช 2456 ทรงเรียนหลักวิชา 1 ปี หลักการปฏิบัติ 1 ปี และวิชาผดุงครรภ์ 1 ปี รวมเป็น 3 ปี พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรการผดุงครรภ์และการพยาบาลไข้ จากโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล เมื่อปีพุทธศักราช 2459 ในหลักสูตรแพทย์ผดุงครรภ์ พระองค์ทรงเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วกว่านักเรียนในรุ่นเดียวกัน
ในปีพุทธศักราช 2460 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เสด็จไปศึกษาวิชาการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงเห็นความสำคัญของการแพทย์และพยาบาลอย่างมาก ทรงเห็นว่าการที่จะมีแพทย์และพยาบาลที่ดีนั้นจำเป็นจะต้องมีการศึกษาอบรมและจำเป็นต้องเตรียมทั้งแพทย์และพยาบาลไว้สำหรับเป็นครูในโรงเรียนแพทย์และโรงเรียนพยาบาล จึงทรงขอให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย ซึ่งมีแผนกแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล เป็นแผนกหนึ่งของโรงเรียนราชแพทยาลัย ให้คัดเลือกนักเรียนแพทย์ 2 คน และนักเรียนพยาบาล 2 คน มาศึกษาวิชาการแพทย์และการพยาบาลต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้รับการคัดเลือกได้รับทุนสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพยาบาลอีกคนหนึ่งคือ นางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา สมัยนั้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังไม่สงบ การเดินทางไปด้วยความยากลำบากมากกว่าจะถึงมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนเอมเมอร์สัน เมืองเบอร์คลีย์ ประมาณ 5-6 เดือน จึงย้ายไปยังมลรัฐแมสซาชูเสตส์ เพื่อศึกษาวิชาอนามัยโรงเรียน ณ ที่นี้เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย เพราะเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีได้พบกันเป็นครั้งแรก และเพียงได้ทอดพระเนตรเห็น สมเด็จพระบรมราชชนกทรงพอพระราชหฤทัยสมเด็จพระบรมราชนนีในทันที
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.