มรดกความทรงจำ

The Memories

คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล


พระมหากรุณาธิคุณ แห่งการเปิดประตูสู่เทคโนโลยีทางเทคนิคการแพทย์

“วันหนึ่ง...ทางคณะแพทย์หลวงได้ส่งพระโลหิตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มารับการตรวจวิเคราะห์ ทางคณะฯ จึงได้นำพระโลหิตของพระองค์ท่าน เข้าเครื่องตรวจ SMA 12/60 ซึ่งเพิ่งติดตั้งใหม่ และเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทยขณะนั้น .... ความทราบถึงพระองค์ท่าน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อเครื่องนี้”

เรื่องราวนี้ยังคงอยู่ในความทรงจำ ของชาวเทคนิคการแพทย์ที่เล่าสืบต่อกันมาด้วยความรู้สึกเป็นมงคลและด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อวิชาชีพเทคนิคการแพทย์

วิชาชีพเทคนิคการแพทย์เป็นวิชาชีพที่ทำให้ได้มาซึ่งตัวอย่างทางการแพทย์ จากผู้รับบริการและทำหน้าที่ตรวจ ทดสอบ วิเคราะห์ วิจัย โดยใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำผลไปใช้ในการวินิจฉัย ติดตาม รักษา พยากรณ์ และการป้องกันโรค การตรวจวิเคราะห์ที่ถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำ จึงมีความสำคัญที่สุด ดังนั้นนอกจากความรู้ความสามารถ และความชำนาญของผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพแล้ว เครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัตินับว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยทุ่นแรง และเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยให้รวดเร็ว และแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ย้อนกลับไปราวปี พ.ศ.2514 ในสมัยที่วงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทยยังไม่เจริญรุดหน้ามากนัก การตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีพื้นฐาน ซึ่งต้องอาศัยทักษะ และความชำนาญของผู้ตรวจวินิจฉัยเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ความต้องการรับบริการมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล รวมถึงการเล็งเห็นความสำคัญของวิชาชีพ ศาสตราจารย์นายแพทย์วีกูล วีรานุวัตติ์ คณบดีท่านแรก และผู้บุกเบิกวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ของไทย จึงมีดำริและดำเนินการนำเครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติมาใช้ในประเทศไทย ทำให้คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีเครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติสำหรับการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้น

SMA 12/60 (Sequential Multiple Analyzer 12/60) มีความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ ได้ถึง 12 การทดสอบ ใน 1 นาที ซึ่งได้แก่ calcium, inorganic phosphorus, glucose, urea nitrogen, uric acid, cholesterol, total protein, albumin, total bilirubin, alkaline phosphatase, lactate dehydrogenase, และ aspartate transaminase และสามารถทำการวิเคราะห์ได้ถึง 60 ตัวอย่างทดสอบ ใน 1 ชั่วโมง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำงานที่ทันสมัย รวดเร็ว และแม่นยำมากในเวลานั้น

รองศาสตราจารย์พรรณี พิเดช ได้รำลึกความทรงจำในครั้งนั้นว่า ศาสตราจารย์นายแพทย์วีกูล วีรานุวัตติ์ เล็งเห็นว่าตัวอย่างตรวจของผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาลศิริราชมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับการบริการที่ต้องได้คุณภาพตามมาตรฐาน ในขณะที่บุคลากรที่ทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ยังมีจำนวนจำกัด เครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการรองรับปริมาณงานในอนาคต และยังสามารถใช้ในการสอนนักศึกษาได้ด้วย ท่านจึงได้ติดต่อให้ รองศาสตราจารย์ พรรณี พิเดช ซึ่งขณะนั้นกำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เดินทางไปยังรัฐนิวยอร์ก เพื่อไปฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่อง SMA 12/60

2 สัปดาห์ของการฝึกอบรม รองศาสตราจารย์พรรณี พิเดช เล่าให้ฟังว่า“....จะต้องเรียนรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเครื่อง แม้กระทั่งการติดตั้ง ต้องฝึกถอด-ประกอบสายเอง ซึ่งมันเยอะมาก ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีเครื่องนี้ใช้ ถ้าเกิดปัญหาขึ้นเราต้องแก้ปัญหาเอง”

ไม่นานนัก SMA 12/60 ก็ได้ถูกนำมาติดตั้งที่ชั้น 1 ของอาคารคณะเทคนิคการแพทย์ และเริ่มให้บริการตรวจวิเคราะห์นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้มีโอกาสให้บริการตรวจวิเคราะห์พระโลหิตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชินีนาถ ยังความปลาบปลื้มแก่พวกเราชาวคณะเทคนิคการแพทย์มาจนถึงปัจจุบัน

“ตอนเริ่มใช้งาน เราตื่นเต้นกันมาก เพราะเครื่องมันทันสมัยมาก เรามีการทำพิธีเปิดใช้เครื่องด้วย เครื่องนี้เปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันวาเลนไทน์ ของปี พ.ศ. 2516”

เครื่อง SMA 12/60 ได้ถูกใช้ในการช่วยตรวจวินิจฉัยโรครวมถึงช่วยในการสอนนักศึกษามายาวนานก่อนที่จะถูกเปลี่ยนเป็นเครื่องรุ่นอื่นที่ทันสมัยขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป

ตราอันทรงเกียรติ หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค

ตราอันทรงเกียรติสำหรับหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค เป็นตราที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนรังสีเทคนิคท่านแรกและท่านเดียว (เมื่อครั้งเป็นโรงเรียนรังสีเทคนิคตั้งแต่ พ.ศ. 2508) และหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิคท่านแรก (หลังจากที่โรงเรียนรังสีเทคนิคปรับเปลี่ยนเป็นภาควิชารังสีเทคนิคเมื่อ พ.ศ. 2522 จนท่านเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2530) ได้จัดทำขึ้น

เพื่อมอบให้กับหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค ผู้ที่มารับหน้าที่ต่อจากท่าน ในเวลานั้นคือ รองศาสตราจารย์จิตต์ชัย สุริยะไชยากร (พ.ศ. 2531-2537) และได้เป็นประเพณีสืบทอดกันมา เมื่อท่านใดมารับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค ก็จะรับตราอันทรงเกียรตินี้ไป หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิคท่านต่อๆ มา ได้แก่ อาจารย์ธันพงษ์ กฤษณจินดา (พ.ศ. 2537-2541) รองศาสตราจารย์ชวลิต วงษ์เอก (พ.ศ. 2541-2549) และรองศาสตราจารย์มานัส มงคลสุข (พ.ศ. 2549-ปัจจุบัน) ตามลำดับ

ลักษณะตราอันทรงเกียรติสำหรับหัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค สร้างขึ้นจากจานโลหะทังสะเต็นอัลลอยด์ที่ใช้ทำเป้าในหลอดเอกซเรย์จริงๆขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 เซนติเมตร นำมาชุบด้วยทองคำ ปิดทับด้วยแผ่นอะลูมิเนียมกลมสีน้ำเงินทั้งสองด้าน ด้านหน้ามีข้อความ “ขนฺตี ธีรสฺส ลงฺกาโร ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์” ด้านหลังมีข้อความ “ตราอันทรงเกียรติ พ.ศ. 2506 หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหิดล” ประดับห้อยกับสายสะพายขนาดกว้าง 3 เซ็นติเมตร สีแดง มีริ้วสีเขียว น้ำตาลและน้ำเงิน ใช้สวมที่คอ

ความหมายภายในหลอดเอกซเรย์ประกอบด้วย จานโลหะและไส้หลอด เมื่ออิเล็กตรอนจากไส้หลอดที่มีพลังงานจลน์สูงมากวิ่งไปชนจานโลหะ จะเกิดเอกซเรย์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ จานโลหะนี้มีคุณสมบัติ ทนทานต่อแรงกระแทกกระทั้น แข็งแกร่งไม่แตกหักง่ายๆ และมีจุดหลอมเหลวสูง ทุกๆ ครั้งที่มีการผลิตเอกซเรย์ จานโลหะนี้จะเกิดความเค้น ความเครียดและความร้อนสูงมาก เพราะต้องรับแรงกระแทกจากการชนของอิเล็กตรอนจำนวนมาก โดยที่พลังงานของอิเล็กตรอนประมาณ 99 % จะกลายเป็นพลังงานความร้อนสะสมอยู่ในจานโลหะ ประมาณ 1 % เท่านั้นที่เป็นเอกซเรย์ออกมาจากจานโลหะให้เราได้ใช้ประโยชน์ นี่เป็นเหตุผลที่ว่า เพราะอะไรจานโลหะจึงต้องมีความทนทานสูง เก็บพลังงานในรูปความร้อนได้สูงและนานโดยไม่หลอมหรือแตกหัก แต่ใช่ว่าจานโลหะนี้จะอมตะ อยู่ยงคงกระพัน จำเป็นต้องมีวิธีระบายความร้อนออกจากจานโลหะด้วย เช่น ทิ้งช่วงเวลาในการระดมยิงอิเล็กตรอนใส่จานโลหะซะบ้าง มิฉะนั้นความร้อนจะสะสมในตัวจานโลหะมากเกินกว่าที่มันจะทนได้ จนหลอมหรือแตกไปในที่สุด

หากตัวเราเป็นดั่งจานโลหะนี้ และเปรียบอิเล็กตรอนคือ อุปสรรคและปัญหาต่างๆ ที่พุ่งเข้าหาเรา พลังของปัญหาต่างๆเหล่านั้น จะทำให้เราเกิดความเค้นและเครียด ในขณะที่ตัวเรายังสามารถสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประชาชน หน่วยงานหรือองค์กรได้บ้าง ดูเหมือนน้อยนิด หากไตร่ตรองให้ดี ประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นมันมากพอที่ทำให้เราภูมิใจ เป็นพลังใจให้เราทำงานเดินหน้าต่อไปได้อย่างภาคภูมิ ขณะเดียวกัน ต้องมีวิธีการที่ถูกต้องในการระบายพลังความเครียดออกไปจากเรา เพื่อให้เราสามารถอยู่รอด ไม่ให้สะสมเกินขีดจำกัดของเราได้ มิฉะนั้น เราจะแตกหักไปหรือหลอมละลายไป เราแตกต่างจากจานโลหะทังสเตนอัลลอยก็ตรงที่ว่า เราเป็นคน มีชีวิตจิตใจ แต่ละคนมีความทนทานและความจุพลังความเครียดไม่เท่ากัน

จานโลหะนี้จึงเป็นเครื่องเตือนสติให้หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค มีความอดทน อดกลั้น เข้มแข็ง ไม่ขาดสติ แม้จะมีอุปสรรคและปัญหา พุ่งเข้ามากระแทกกระทั้นหนักหนาสาหัสสักปานใดก็ตาม ประกอบกับข้อความที่เขียนไว้ว่า “ขนฺตี ธีรสฺส ลงฺกาโร ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์” เป็นพุทธสุภาษิตที่เตือนสติให้หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิคได้เข้าใจว่า เครื่องประดับนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมให้คนดูสวยงามขึ้น แต่หากผู้นั้นแสดงกิริยาไม่เหมาะสม ขาดความอดทนอดกลั้น ความสวยงามก็หมดไป สำหรับนักปราชญ์ หากแสดงกิริยาไม่เหมาะสม ก็จะยิ่งน่ารังเกียจเป็นทวีคูณ นักปราชญ์จะแสดงความสง่าน่านับถือไว้ได้ด้วยความอดทนอดกลั้น

เรื่องเล่าของวันวาร ผ่าน...ตำราเรียน

หากจะถามหาอะไรสักอย่างเพื่อปลุกเร้าความทรงจำของวันวารของคนร่วมสมัย ช่วงเวลาแห่งการศึกษาเล่าเรียน เป็นช่วงเวลาที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของทุกคน “ตำราเรียน” จึงเป็นสื่อในการย้อนรำลึกถึงเวลาอันมีค่าเหล่านั้น

ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 54 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนเทคนิคการแพทย์แห่งแรกของประเทศไทย ได้ถือกำเนิดขึ้นภายในโรงพยาบาลศิริราช และต่อมาคือคณะเทคนิคการแพทย์ สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในขณะนั้น โดยคณบดีท่านแรกคือศาสตราจารย์นายแพทย์วีกูล วีรานุวัตติ์ ภารกิจหลักในขณะนั้น คือ การผลิตนักเทคนิคการแพทย์ และให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ในระยะเริ่มแรก คณะฯ ทำหน้าที่ผลิตนักเทคนิคการแพทย์ระดับปริญญาตรี และพนักงานวิทยาศาสตร์จัตวา หลักสูตร 1 ปี ตลอดจนนักรังสีเทคนิคระดับปริญญาตรี และพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ (รังสีเทคนิค) หลักสูตร 2 ปี บัณฑิตรุ่นแรกๆ มีการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 1 และ 2 ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาจึงย้ายมาเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเข้าสู่การเรียนการสอนในชั้นปีที่ 3 จึงย้ายมาเรียนที่ตึกเรียนคณะฯ ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลศิริราช มีการจัดการเรียนการสอน โดยคณาจารย์ของคณะฯ

ตำราแต่ละเล่มผลิตขึ้นด้วยความยากลำบาก และต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ เนื่องจากเทคนิคการตรวจวิเคราะห์มีความทันสมัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการผลิตแต่ละครั้งต้องมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยพิมพ์ลงบนกระดาษไข ก่อนที่จะนำไปโรเนียว เนื่องจากวิทยาการด้านการพิมพ์ยังไม่ก้าวหน้า ตำราเรียนจึงเป็นสมบัติชิ้นสำคัญของนักศึกษาสมัยนั้น เพราะล้วนเป็นสาระและหลักการสำคัญในการวิเคราะห์ สามารถใช้อ้างอิงได้ทุกยุคทุกสมัย นักศึกษาสมัยนั้นซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่เกษียณอายุราชการไปแล้วจึงยังคงเก็บรักษาตำราอันทรงคุณค่านี้ไว้

ลูกศิษย์ลูกหาเล่าให้ฟังว่า อาจารย์นอกจากจะทำหน้าที่สอนแล้ว ยังทำงานในห้องตรวจวิเคราะห์ควบคู่กันไปด้วย การเรียนการสอนจึงมาจากสถานการณ์จริง (In service) เพราะเรามีห้องปฏิบัติการที่ต้องให้บริการคนไข้จากโรงพยาบาลศิริราชทั้งโรงพยาบาล ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 ของตึกเทคนิคการแพทย์ ประสบการณ์ที่ได้รับจึงเป็นประสบการณ์ตรงที่มีอาจารย์คอยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด และเข้มงวด ประกอบกับจำนวนนักศึกษาที่ไม่มากนัก เทคโนโลยีต่างๆ ยังไม่ทันสมัยเท่าปัจจุบัน ทำให้การถ่ายทอดทางความคิด และทักษะทางวิชาชีพเป็นไปอย่างเข้มข้น สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศเหล่านี้จึงเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้นักเทคนิคการแพทย์ ที่ผลิตภายใต้หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาเทคนิคการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถและมีความชำนาญทางวิชาชีพ และยังมีแนวคิดที่เป็นรากฐานสำคัญของการวิจัยเพื่อพัฒนาวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ไทยให้เจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นคุณลักษณะที่โดดเด่นและแตกต่างจากบัณฑิตในสาขาวิชาชีพเดียวกัน ทั้งในและต่างประเทศ

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.