มรดกความทรงจำ
The Memories
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
เก้าอี้.....ครุภัณฑ์ชุดแรกของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งพญาไท มีขนาดพื้นที่ 37 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา เป็นโรงพยาบาลขนาด 500-600 เตียง การออกแบบอาคารของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ยึดหลักตามโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ กล่าวคือต้องมีความสะดวกทั้งในด้านวิชาการ การบริการ และการวิจัย จึงจัดให้มีพื้นที่สำหรับการสอนที่หอผู้ป่วย มีห้องเรียน ห้องประชุม ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการวิจัย ห้องพักแพทย์เวรประจำการ ห้องพักนักศึกษา และสำนักงานของภาควิชาซึ่งประกอบด้วยห้องทำงานอาจารย์และบริเวณธุรการ ห้องปฏิบัติการวิจัยร่วมภาควิชา และหอวิจัยทางคลินิก
เนื่องจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีเนื้อที่จำกัด แต่ต้องการให้มีการใช้งานของอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สร้างอาคารใหญ่รวม ( Compact Building ) ขึ้น โดยในขั้นต้นได้สร้างอาคารนี้ไว้เพียง 8 ชั้น เพื่อวางรากฐานไว้สำหรับต่อเติมเป็น 9 ชั้นได้ในอนาคต อาคารที่สร้างติดกลุ่มอยู่กับอาคารใหญ่รวมตั้งแต่แรก ได้แก่ ห้องประชุมใหญ่ ขนาดจุประมาณ 400 - 500 คน โรงครัว ห้องอาหารสำหรับบุคลากรของคณะฯ อาคารที่อยู่บริเวณใกล้รั้วด้านริมทางรถไฟ เป็นหอพักพยาบาล หอพักนักเรียนพยาบาล และหอพักผู้ช่วยพยาบาลชาย และอาคารที่อยู่ติดรั้วด้านเหนือใกล้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้แก่ หอพักแพทย์ หอพักนักศึกษาแพทย์ และโรงอาหารเล็ก
ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทร์นิวัทธ์ เกษมสันต์ ผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 ได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่สะท้อนบรรยากาศเรื่องราวไว้ให้คนรุ่นหลังได้ร่วมรับรู้ว่า. . . ในการจัดหาครุภัณฑ์นั้น ต้องมีการจัดตั้งงบประมาณสำหรับซื้อครุภัณฑ์ด้วย ท่านและรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิรพรรณ มัธยมจันทร์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะฯ สำคัญอีกท่านหนึ่งได้เดินทางไปติดต่อที่สำนักงบประมาณฯ เพื่อแจ้งงบประมาณการจัดซื้อเก้าอี้สำหรับใช้ในคณะฯ โดยกำหนดว่าต้องการเก้าอี้ราคาตัวละ 80 บาท ซึ่งสำนักงบประมาณฯ ได้แจ้งว่าขอให้ใช้เก้าอี้ราคาตัวละ 50 บาทเท่านั้น และในขณะที่กำลังนั่งติดต่องานอยู่นั้น เก้าอี้ที่รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิรพรรณนั่งก็หักลงมา รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิรพรรณจึงหัวเราะและถามเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณฯว่า เป็นเก้าอี้ราคา 50 บาทแบบนี้ใช่ไหมที่สำนักงบประมาณกำหนดให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจัดซื้อ...
หลังจากนั้นไม่นาน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็ได้รับอนุมัติให้จัดซึ้อเก้าอี้ในราคา 50 บาท ...แต่ไม่ได้หมายถึงเก้าอี้ตัวที่หักแต่ประการใด ..... เรื่องราวนี้คือบรรยากาศ คือความทรงจำ คือภาพครั้งอดีต ซึ่งเป็นที่มาของการไปขออนุมัติจัดซื้อครุภัณฑ์ประเภทเก้าอี้เท่านั้น และเก้าอี้ชุดแรกที่จัดซื้อมาใช้ในคณะฯ ในครั้งนั้น ก็นับเป็นครุภัณฑ์ชุดแรกที่มีรหัส 2512
ในปัจจุบัน สภาพเก้าอี้ชุดแรกดังกล่าวยังคงมีสภาพคงทน แม้ว่าเบาะจะเปลี่ยนสภาพจากอ่อนนุ่มเป็นเบาะที่มีสภาพที่แข็ง ไม่เหลือร่องรอยของความอ่อนนุ่มแล้วก็ตาม เก้าอี้ชุดแรกที่จัดซื้อมาใช้มีเลขรหัส 2512 แต่ถ้าพิจารณาจากรหัสพัสดุของเก้าอี้นี้ จะพบว่าเป็นครุภัณฑ์ของภาควิชาจักษุวิทยาและวิทยาโสตนาสิกลาริงส์ คือ “จษส2512” ซึ่งบ่งบอกประวัติให้ทราบว่า ในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งเป็นปีแรกที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเปิดให้บริการ แผนผังโครงสร้างองค์กรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีในยุคแรก จะประกอบด้วยภาควิชาต่างๆ เพียง 8 ภาควิชา รวมถึงภาควิชาจักษุวิทยาและวิทยาโสตนาสิกลาริงส์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ได้แยกเป็น ภาควิชาจักษุวิทยา และภาควิชาโสต นาสิก ลาริงส์วิทยา
ลายมือของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อารี วัลยะเสวี ในยุคก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อารี วัลยะเสวี เป็นบุตรชายคนโตของพระยาสุรินทรเสวี (เถา วัลยะเสวี) และคุณหญิง เอื้อ สุรินทรเสวี ใน พ.ศ.2490 ได้เข้าเรียนแพทย์ที่คณะแพทย์ศิริราช ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2494 ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต เป็นแพทย์ศิริราชรุ่นที่ 56 สมัครเข้าเป็นแพทย์ประจำบ้านที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช โดยเริ่มต้นทำงานเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2494 หลังจากนั้นไปศึกษาระดับ Post Graduate Course ที่มหาวิทยาลัยเพ็นซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ American Board of Pediatric รวมทั้งสอบได้ปริญญาเอก D. Sc. (Doctor of Sciences) ได้รับตำแหน่งหัวหน้าหน่วยวิจัยโภชนาการที่โรงพยาบาลมูลนิธิดริสคอลล์ (Driscoll Foundation Children’s School) มลรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในพ.ศ. 2500 และกลับมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช พ.ศ. 2503 นอกจากศาสตราจารย์นายแพทย์อารี วัลยะเสวี จะเป็นอาจารย์แพทย์ในสาขากุมารเวชศาสตร์และออกตรวจโอพีดี (ผู้ป่วยนอก) ดูแลคนไข้เด็กทุกประเภทแล้ว ท่านยังมีความชำนาญพิเศษทางด้านโภชนาการอีกด้วย
ในฐานะผู้บริหาร ศาสตราจารย์นายแพทย์อารี วัลยะเสวี สนใจในระบบการศึกษาตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเพ็นซิลวาเนีย และบ่อยครั้งจะมีการสนทนาเรื่องระบบการศึกษาของแพทย์ไทยในหมู่เพื่อนแพทย์ไทยที่ไปเรียนที่เดียวกัน ซึ่งได้แก่ นายแพทย์ ม.ร.ว.พัชรีสาณ ชุมพล นายแพทย์ ดอนเฉลิม พรมมาส นายแพทย์ เสริมศักดิ์ เพ็ญชาติ แพทย์หญิงเสริมศรี กฤษณามระ นายแพทย์ กุณฑล สุนทรเวช แพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทร์นิวัทธ์ เกษมสันต์ นายแพทย์ กำธร ศุขโรจน์ ฯลฯ โดยมีประเด็นที่สนทนาคือ “ทำอย่างไรโรงเรียนแพทย์ในเมืองไทย จึงจะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพให้ทัดเทียมกับในสหรัฐอเมริกา” โดยเฉพาะด้านการเรียนการสอน และการสนทนามักจะลงเอยว่า “น่าจะตั้งโรงเรียนแพทย์สักแห่งหนึ่ง ที่มีลักษณะที่เอื้ออำนวยในการสอนและวิจัยให้มากที่สุด นอกจากนั้น อาจารย์และนักวิชาการควรมีเวลาในการเตรียมการสอนและทำการวิจัยได้อย่างเต็มที่ อาจารย์ควรมีเวลาทำงานเด็มเวลา และจำกัดบริการผู้ป่วยเฉพาะเพื่อการศึกษาเท่านั้น”
ในที่สุด ในปี พ.ศ. 2508 ได้มีการจัดตั้งคณะแพทย์ใหม่ขึ้น คือ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 500-600 เตียง ณ ตำบลทุ่งพญาไท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด ในวันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 เวลา 15.00 น. และเปิดบริการผู้ป่วยอย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2512
ในช่วงการก่อตั้งคณะแพทย์ใหม่นั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี และคณะผู้ก่อตั้งอื่นๆ ได้ทุ่มเทแรงกาย ความรู้ ความสามารถมากมาย ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์สำหรับพิมพ์ ดังนั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์อารี วัลยะเสวี จะร่างข้อความ และเนื้อหาต่างๆ ลงในกระดาษฟุลสแก๊ป ด้วยปากกาและดินสอ เป็นลายมือที่สวยงาม อ่านง่าย รวมทั้งรอยการแก้ไขเนื้อหา โดยจะขีดฆ่า ลบข้อความด้วยตนเอง จากลายมือของท่านบ่งบอกว่า นอกจากท่านจะเป็นแพทย์ อาจารย์ นักโภชนาการที่มีชื่อเสียงแล้ว ท่านยังเป็นนักวางแผน นักบริหาร นักคิด นักเขียนที่ละเอียดอ่อนและรอบคอบอีกด้วย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อารี วัลยะเสวี ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีผู้ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (พ.ศ. 2512 - พ.ศ. 2521) เมื่ออายุ 43 ปี ซึ่งนับเป็นคณบดีที่หนุ่มที่สุดในสมัยนั้น
เวชระเบียนเล่มแรก หมายเลข 000 00 01
คำว่า “เวชระเบียน” กำเนิดที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยการเสนอของนายแพทย์ ศิริพัฒน์ วัฒนเกษตร มาจากคำว่า “เวช” บวกกับคำว่า “ระเบียน” และเป็นที่รับรองให้ใช้โดยคณะกรรมการของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ต่อมาเวชระเบียน เป็นหนังสือราชการซึ่งออกให้ผู้ป่วยแต่ละรายที่มารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ประกอบด้วยบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วย สิ่งตรวจพบ การวินิจฉัย การรักษา ตลอดจนการดำเนินโรคของผู้ป่วย เพื่อที่จะให้แพทย์ได้ทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยทั้งในขณะที่เป็นผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกไปด้วยกัน “เวชระเบียน” ของผู้ป่วยโรงพยาบาลรามาธิบดีจึงมีข้อมูลของผู้ป่วยแต่ละรายทั้งเมื่อเป็นผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในบรรจุอยู่ในเล่มเดียวกัน ซึ่งแตกต่างไปจากทะเบียนประวัติผู้ป่วยที่ใช้ในโรงเรียนแพทย์อื่นๆในขณะนั้น
จากนโยบายคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ต้องการให้ผู้ป่วยหนึ่งคนมีเวชระเบียนเล่มเดียวตลอด การปฏิบัติงานเวชระเบียนจึงใช้ระบบ Centralization มีการลำดับหมายเลขประจำตัวผู้ป่วยจากน้อยไปหามาก มีการติดแถบสีบนเล่มเวชระเบียนเพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดต่อไป
วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 เวลา 15.00 น. เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และเริ่มเปิดบริการผู้ป่วยอย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 ผู้ป่วยคนแรก คือ น.ส. สุธีรา อายุวัฒน์ ได้หมายเลขเวชระเบียน เป็น HN 000 00 01 สืบเนื่องจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยมากในสมัยนั้น ดังนั้น จึงเป็นที่สนใจของผู้ป่วยที่จะเข้ามารับการรักษารวมถึงความประสงค์ที่จะเป็นผู้ป่วยคนแรกของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งนี้ รวมถึงบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเอง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโสต ศอ นาสิก ลาริงซ์วิทยา ซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จวิชา Audiology and Speech Pathology จากประเทศสหรัฐอเมริกา (M.A. Communication Disorders, Temple University, U.S.A) และเป็นอาจารย์คนแรกที่บรรจุเข้ารับราชการอย่างเป็นทางการที่หน่วย หู คอ จมูก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2511 ซึ่งได้รำลึกถึงความทรงจำในครั้งนั้นไว้ว่า “...1 วัน ก่อนโรงพยาบาลเปิด จะมีคนมาลงทะเบียน มีหัวหน้าพยาบาลคนหนึ่ง ได้หมายเลขแรกไป.... ส่วนผมได้หมายเลขเจ็ดสิบกว่าๆ ...” อันเป็นภาพความทรงจำที่ร้อยเรียงเข้ากับคำบอกเล่าของผู้ช่วยศาสตราจารย์สุธีรา อายุวัฒน์ ที่ว่า “…พอดีไปทำฟันกับคุณหมอเจือจันทร์ ก่อนจะทำฟัน จริงๆ ก็ไปทำอยู่ วันหนึ่งก็บอกว่ามีแผนกเวชระเบียนขึ้นแล้ว เธอต้องไปเอาเวชระเบียนมาเสียก่อน ฉันจึงจะทำให้ ก็เดินไป ก็เป็นที่มาของการได้เบอร์ 1... ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุธีรา อายุวัฒน์ ยังคงใช้เวชระเบียนเล่มนี้จนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553 คณะทำงานหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี ติดต่อขอเวชระเบียนในฐานะ เวชระเบียนหมายเลขแรกจากท่าน เพื่อไปจัดแสดงใน “งานรักษ์รามาธิบดี ครั้งที่ 1” วันศุกร์ที่ 9 เมษายน – วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553 ณ ห้องท่านผู้หญิงวิริยา ชวกุล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุธีรา อายุวัฒน์ ยินดีที่จะมอบเฉพาะปกเวชระเบียนเล่มนี้ให้เก็บไว้ในหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี (โดยขอสงวนไม่เปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณชน)
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.