เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันทางการศึกษาที่มีนามมาจากพระนามาภิไธยเดิมของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งก็คือ “สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช” ผู้ทรงเป็นสมเด็จบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้พระราชทานพระนามาภิไธย “มหิดล” ให้เป็นนามของมหาวิทยาลัย และสมเด็จพระบรมราชชนกพระองค์นั้นได้ทรงประกอบพระกรณียกิจทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และการศึกษา อย่างเป็นอเนกประการ ทั้งยังทรงผูกพันกับโรงเรียนแพทย์อันเป็นต้นกำเนิดของมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างลึกซึ้ง มหาวิทยาลัยจึงจัดกิจกรรม วันมหิดล ขึ้นในวันที่ 24 กันยายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระบรมราชชนกนั้น โดยจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งพิธีทางศาสนาและการบริจาคเพื่อผู้ป่วยยากไร้ เป็นการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่สมเด็จพระบรมราชชนกพระองค์นั้น

สำหรับในพื้นที่ศาลายา มีพระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกประดิษฐานให้ชาวมหาวิทยาลัยมหิดลได้สักการะอยู่ 2 องค์ด้วยกัน คือ

  • โถงชั้น 1 อาคารสำนักงานอธิการบดี เป็นพระรูปประทับยืนขนาดเท่าพระองค์จริง เดิมประดิษฐานอยู่ ณ อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัยมหิดล เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์ ในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ต่อมามีการย้ายสำนักงานอธิการบดีมาอยู่ในพื้นที่ศาลายาแล้ว ได้อัญเชิญพระรูปนี้มาประดิษฐานในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 และมีพิธีบวงสรวงติดตั้งพระราชานุสาวรีย์ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
  • ลานพระราชานุสาวรีย์ อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล เป็นพระรูปประทับยืนขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง (สูงประมาณ 2.8 เมตร) มีแท่นประดิษฐานพระรูปสูง 2.5 เมตร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554