แม้ว่าสังคมไทยจะเจริญก้าวหน้าไปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มากมายแต่ความเชื่อเรื่องผี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติ ยังคงฝังรากลึกและมีปรากฏอยู่ทุกหนแห่ง สอดแทรกอยู่ในแทบทุกบริบทของวิถีชีวิตคนในสังคมไม่จางหาย ตั้งแต่ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ไปจนถึงชุมชนชนบท ไม่เว้นแม้กระทั่งสถานศึกษาแหล่งรวมศาสตร์ความรู้สมัยใหม่ก็มีเรื่องพวกนี้แทรกแฝงอยู่ด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้
พื้นที่ดั้งเดิมก่อนเป็นสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาในปัจจุบัน เคยเป็นสถานที่รกร้างที่ห้อมล้อมไปด้วยชุมชนขนาดเล็กที่ผ่านยุคสมัยและมีเรื่องราวประวัติความเป็นมายาวนาน มีการบันทึกเอกสารทางประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าอันมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผี รวมถึงเรื่องเหนือธรรมชาติที่มีบทบาทต่อวิถีชีวิตของคนที่เข้ามาศึกษาและปฏิบัติงาน ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
คำว่า “ผี” หลายคนอาจตีความเป็นสิ่งน่ากลัว น่าขนลุก เป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะหาคำอธิบาย พระยาอนุมานราชธนได้อธิบายถึง “ผี” ไว้ในหนังสือเกี่ยวกับประเพณีไทย เนื่องในเทศกาลตรุษสาทรของเสฐียรโกเศศว่า “ผี” เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะมองเห็นตัวได้ แต่เราเชื่อว่าสิ่งนั้นมีฤทธิ์และอำนาจอยู่เหนือคน อาจให้คุณหรือให้โทษแก่เราก็ได้ สิ่งใดที่ปรากฏขึ้นแก่เราและเราไม่สามารถจะทราบหรืออธิบายได้ด้วยปัญญาและเหตุผลหรือคิดเป็นสิ่งประหลาดน่าอัศจรรย์ผิดธรรมดาสามัญที่ควรจะเป็นสิ่งนั้นเราก็เรียกว่า “ผี” และเรียกอาการที่ปรากฏขึ้นในธรรมชาติที่ประหลาดอัศจรรย์หรือรุนแรงน่าสะพรึงกลัวว่าผีเป็นผู้บันดาลให้ปรากฏขึ้น
มนุษย์ไม่ว่าชาติใด ภาษาใด เริ่มนับถือผี มีความกลัวเกรงผีและยึดถือเป็นสรณะที่พึ่งตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ แม้ภายหลังจะมีศาสนาและความเจริญเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ความเชื่อเรื่องผี ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ก็ยังคงฝังรากลึก สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตคนในสังคมไม่จางหาย หากแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบและผสมผสานกันอย่างประณีตและกลมกลืน
ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้แสดงความคิดเห็นว่าศาสนาพุทธในเมืองไทยถือเอาศาสนาผีเป็นแกนกลาง โดยมีพุทธและพราหมณ์เป็นเปลือกห่อหุ้มอยู่ภายนอก หลังการปฏิรูปพุทธศาสนาที่ดำเนินมาเป็นเวลากว่าศตวรรษในประเทศไทย ศาสนาพุทธและศาสนาผีก็อยู่คู่กันมา หลักการของพุทธถือเป็นหน้าเป็นตาให้เราเผชิญกับศาสนาอื่น ๆ ได้ทั้งโลก ในขณะที่หลักการของศาสนาผีครอบงำวิธีคิดและการดำเนินชีวิตจริงของคนไทยส่วนใหญ่ (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2542) เหตุนี้เองทำให้เราอนุมานได้ว่าเหตุใด “พระ” และ “ผี” จึงแทบจะแยกกันไม่ได้ เมื่อนึกถึง “ผี” ก็ต้องนึกถึง “พระ”
สำหรับประเภทของผี พระยาอนุมานราชธนได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ “ผีดี” และ “ผีร้าย” โดย “ผีดี” คือ ผีที่ไม่ได้ให้โทษหรือออกมาหลอกหลอนให้คนหวาดกลัว และอาจจะให้คุณโดยอำนวยพรให้สำเร็จสมหวังตามการบนบานหรือไม่ก็ได้ ซึ่งผีดีได้ถูกแบ่งไว้ ได้แก่
ผีร้าย เป็นผีอีกจำพวกที่มีอยู่ทั่วไปทุกพื้นที่ และมักเกะกะระราน หลอกหลอนให้ผู้คนกลัวหรือตกใจ ซึ่งผีจำพวกนี้เองทำให้ความหมายของคำว่า “ผี” ถูกตีความในแง่ลบ ทำให้ผีจำพวกอื่น ๆ เสื่อมเสียไปด้วย เหตุนี้คนจึงแบ่งแยกผีดีออกจากผีเลว โดยการยกย่องและเลื่อนฐานะให้ผีดีเป็น “เทวดา” หรือ “เทพารักษ์” ไปนั่นเอง
เวลาคนที่นึกถึงผี หรือพูดเรื่องผี คนจึงมีแต่ความหวาดกลัวเกิดขึ้นใจจิตใจเท่านั้น และลืมไปว่า แท้จริงแล้ว “ผี” มีความหมายและซับซ้อนกว่านั้นมาก