มรดกความทรงจำ

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

กันยายน 15, 2020

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

มรดกความทรงจำ

The Memories

[brizy_breadcrumbs ]

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล


“นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ” กับความทรงจำแห่งการวิจัยของสถาบันโภชนาการ

เมื่อนายแพทย์อารี วัลยะเสวี เดินทางกลับมาถึงประเทศไทย หลังสำเร็จการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณต้นปี พ.ศ. 2503 ก็เข้ารับตำแหน่งเป็นอาจารย์ในแผนกกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยนอกเหนือจากหน้าที่หลักคือ การสอนวิชากุมารเวชศาสตร์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 องค์กร ICNND (Inter-Committee on Nutrition for National Development) แห่งสหรัฐอเมริกา ได้มาสำรวจสภาวะโภชนาการในประเทศไทย โดยมีโปรเฟสเซอร์ จีออร์กี้ เป็นที่ปรึกษา นายแพทย์อารีจึงได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะสำรวจด้วยเช่นเดียวกัน โดยพื้นที่ในการสำรวจอยู่ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เนื่องจากพบว่ามีประชากรป่วยเป็นโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะกันมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก จากเดิมที่เคยเชื่อกันว่า สาเหตุของนิ่วเกิดจากการบริโภคน้ำบ่อ ซึ่งเป็นน้ำกระด้างและมีปริมาณแคลเซียมสูง ทว่าก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคนี้ได้ ทำให้มุ่งประเด็นไปที่การศึกษาระบาดวิทยา และกลไกของการเกิดโรค ตลอดจนความสัมพันธ์ของโรคนี้กับสภาวะโภชนาการของผู้ป่วย

{{ brizy_dc_image_alt uid='wp-1f04c132105b35f0924586b04d5ff9b6' }}

การศึกษาวิจัยโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานถึง 17 ปี (พ.ศ. 2503-2522) โดยมีพื้นที่การวิจัยหลักอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี รูปแบบของการวิจัยได้ดำเนินไปตามลำดับ เริ่มจากการศึกษาความรุนแรงของปัญหา สาเหตุของปัญหา การตั้งสมมุติฐาน การพิสูจน์สมมุติฐาน และการปฏิบัติเพื่อแก้ไขและป้องกัน

จากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องด้วยความทุ่มเท ทำให้ทราบว่า โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะมีสาเหตุมาจากการขาดสารอาหารจำพวกโปรตีนและได้รับสารจำพวกออกซาเลตในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งสัมพันธ์กับวิถีการกินของชาวบ้าน ที่มีฐานะยากจนขาดอาหารโดยเฉพาะอาหารที่ให้โปรตีนและนิยมบริโภคผักที่มีสารออกซาเลตสูงจำนวนมาก ขณะเดียวกันกลับได้รับโปรตีนและฟอสเฟตในปริมาณที่น้อยเกินไป ส่งผลให้เกิดการสะสมผลึกของออกซาเลท จนไม่สามารถถูกขับออกทางปัสสาวะทำให้เกิดนิ่ว ด้วยเหตุนี้ ทางคณะวิจัยจึงได้ทดลองให้เด็กรับกินเกลือฟอสเฟต ซึ่งก็พบว่า เกลือฟอสเฟตสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้จริง จากนั้น จึงดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขโดยเพิ่มการกินอาหารที่มีโปรตีน จากเนื้อสัตว์และถั่ว ซึ่งมีฟอสฟอรัสสูง และดื่มน้ำมากขึ้น

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัยในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ด้านพยาธิกำเนิดของโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และสามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการป้องกันโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะให้กับประเทศอื่นๆ ที่กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน เช่น อิยิปต์ อิหร่าน ปากีสถาน อินเดีย เป็นต้น โดยผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะในประเทศไทย” ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารต่างประเทศหลายฉบับ ขณะที่นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ก็ได้รับเชิญไปบรรยายในการประชุมนานาชาติในประเด็นดังกล่าวอีกหลายครั้ง นอกจากนี้ ผลงานวิจัยนี้ยังได้รับรางวัลยอดเยี่ยมของสภาวิจัยแห่งชาติ เมื่อพ.ศ. 2519 ร่วมกับแพทย์หญิงสาคร ธนมิตต์ อีกด้วย

สองปูชนียบุคคลแห่งวงการโภชนาการไทย สองปูชนียบุคคลแห่งความทรงจำของสถาบันโภชนาการ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อารี วัลยะเสวี และศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงคุณสาคร ธนมิตต์ นับเป็นบุคคลสำคัญยิ่งแห่งวงการโภชนาการไทย และ นับเป็นปูชนียบุคคลแห่งความทรงจำของสถาบันโภชนาการ ท่านทั้งสองคือผู้ผลักดันให้มีแผนอาหารและโภชนาการเกิดขึ้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ส่งผลให้การทำงานด้านอาหารและโภชนาการปรากฎขึ้นอย่างจริงจังในสังคมไทย เพราะประสบการณ์ในการทำงานภาคสนามทำให้ท่านได้พบเห็นเด็กขาดสารอาหารและเจ็บป่วยจำนวนมาก และเมื่อรักษาหายแล้วก็กลับมาเจ็บป่วยอีกซ้ำอีก ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาจำนวนมาก

{{ brizy_dc_image_alt uid='wp-81c9f57c0af563145d6ad0101b4c1e5b' }}

จึงเห็นว่าการการป้องกันด้วยการพัฒนาภาวะโภชนาการให้ดีจะเป็นแนวทางที่ดี อีกทั้งทำให้เด็กและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ท่านทั้งสองจึงได้ดำเนินโครงการวิจัยต่างๆ อาทิเช่น งานวิจัยเรื่องโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โดยศึกษาหาความรุนแรงของปัญหา การศึกษาหาสาเหตุของปัญหาตลอดจนแนวทางแก้ไข โครงการวิจัยเพื่อหารูปแบบเพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการในทารกและเด็กวัยก่อนเรียนในชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการศึกษาเรื่องโรคโลหิตจางในคนท้อง โครงการส่งเสริมสุขภาพและการให้โภชนาการศึกษาแก่ชุมชน โครงการศึกษาพฤติกรรมการกินของคนไทย เป็นต้น โดยท่านทั้งสองร่วมทำงานลงพื้นที่ภาคสนามเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาโดยตลอด และในการดำเนินงานวิจัยต่างๆ นั้น ได้สร้างและพัฒนาองค์ความรู้โดยใช้สหสาขาวิชา ทำให้ผลงานด้านอาหารและโภชนาการของประเทศไทยเป็นที่ปรากฎแก่นานาประเทศ และยังเป็นแบบอย่างที่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีบริบทใกล้เคียงกับประเทศไทย นำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการของประเทศตนได้อย่างเกิดประสิทธิผล

นอกจากงานวิจัยแล้ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อารี วัลยะเสวี โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงคุณสาคร ธนมิตต์ ช่วยสนับสนุนในการดำเนินการเบื้องหลัง ยังเป็นผู้ก่อตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ถึง 2 หน่วยงาน คือ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในปี พ.ศ. 2512 และสถาบันวิจัยโภชนาการ ในปี พ.ศ. 2520 (ต่อมา 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันโภชนาการ) นอกจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี จะเป็นผู้ก่อตั้งแล้วท่านยังเป็น คณบดีท่านแรกของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และเป็นผู้อำนวยการท่านแรกของสถาบันวิจัยโภชนาการ และศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงคุณสาคร ธนมิตต์ เป็นผู้อำนวยการท่านที่สอง นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อารี วัลยะเสวี ยังเป็นคณบดีท่านแรกของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย

{{ brizy_dc_image_alt uid='wp-99762aafc34c49c53d20ebbb4a0753ba' }}

ผลงานต่างๆ ที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อารี วัลยะเสวี และศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงคุณสาคร ธนมิตต์ ได้ร่วมกันดำเนินการได้สร้างคุณูปการให้กับวงการโภชนาการของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการและเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินงานด้านอาหารและโภชนาการ ส่งผลต่อเนื่องให้สถาบันโภชนาการเป็นหน่วยงานที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ แล้วยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์ประสานด้านโภชนาการชุมชนและความปลอดภัยของอาหารขององค์การอนามัยโลก และจัดให้เป็นหน่วยงานที่มีความเป็นเลิศทางด้านคุณภาพ และความปลอดภัยของอาหารขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีเพียง 16 แห่งในโลก การดำเนินการอย่างต่อเนื่องทำให้ปัญหาทุพโภชนาการของประเทศลดลง ดังนั้น จึงนับว่าท่านทั้งสองเป็นปูชนีบุคคลแห่งวงการโภชนาการไทย และปูชนียบุคคลแห่งความทรงจำของสถาบันโภชนาการอย่างแท้จริง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักโภชนาการ ในความทรงจำของชาวสถาบันโภชนาการ

{{ brizy_dc_image_alt uid='wp-425f3d89c355004a8a28ef4819b4578d' }}

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยงานด้านอาหารและโภชนาการ จากการที่ตามเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนกไปในที่ต่างๆ ทรงเห็นสภาวะขาดแคลนของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในชนบทที่ยังขาดแคลนอาหารอีกเป็นจำนวนมาก พระองค์ท่านจึงได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจสนับสนุนงานด้านอาหารและโภชนาการอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาโดยตลอด

พระองค์ทรงสนพระทัย ทรงหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ประจักษ์ชัด และยังทรงพระวิริยะอุตสาหะในการแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนางานให้ประสบผลสำเร็จเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพสกนิกรชาวไทย พระองค์ทรงหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาเพื่อพัฒนางานให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ทำให้สถาบันโภชนาการซึ่งขณะนั้นมีศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ เป็นผู้อำนวยการ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่าน ให้จัดการสัมมนาวิชาการพิเศษถวายเป็นครั้งแรก ในปีพ.ศ. 2535 ติดต่อกันจำนวน 7 วัน และได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างต่อเนื่องติดต่อกันทุกปี รวม 15 ครั้ง จนกระทั่ง พ.ศ. 2549 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • พ.ศ. 2535 การสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 1 เรื่อง “โภชนาการ”20 -31 มกราคม พ.ศ. 2535
  • พ.ศ.2536 การสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 2 เรื่อง “โภชนาการกับสุขภาพ” 8 มีนาคม พ.ศ. 2536
  • พ.ศ.2537 การสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 3 เรื่อง “โภชนาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต” 25 – 28 มกราคม พ.ศ. 2537
  • พ.ศ.2538 การสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 4 เรื่อง “โภชนาการเพื่อชีวิต” 9 – 13 มกราคม พ.ศ. 2537
  • พ.ศ.2539 การสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 5 เรื่อง “โภชนาการกับอาหารไทย” 2 – 5 มกราคม พ.ศ. 2539
  • พ.ศ.2540 การสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 6 เรื่อง “การลงทุนทางโภชนาการเพื่อเด็ก” 7 – 9 มกราคม พ.ศ. 2540
  • พ.ศ.2541  การสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 7 เรื่อง “อาหารและโภชนาการในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง” 20 – 23 มกราคม พ.ศ. 2541
  • พ.ศ.2542 การสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 8 เรื่อง “การประยุกต์ความรู้ทางโภชนาการสู่การปฏิบัติ” 5 – 7 มีนาคม พ.ศ. 2542
  • พ.ศ.2543 การสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 9 เรื่อง “การพัฒนาและติดตามประเมินโครงการทางด้านสุขภาพและโภชนาการ” 27 – 29 มีนาคมพ.ศ. 2543
  • พ.ศ.2544 การสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 10 เรื่อง “อาหารและโภชนาการ: ประยุกต์ความรู้สู่คุณภาพชีวิต” 22 – 24 มกราคม พ.ศ. 2544
  • พ.ศ.2545 การสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 11 ทรงร่วมประชุมวิชาการโภชนาการ’45 และทรงบรรยายพิเศษปาฐกถาอารี วัลยะเสวี เรื่อง “งานโภชนาการในอนาคต: ระดับชาติและนานาชาติ” 21 มกราคม พ.ศ. 2545
  • พ.ศ.2546 การสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 12 เรื่อง “อาหารและโภชนาการสำหรับสตรีในวัยเปลี่ยนแปลง” 24 มีนาคม พ.ศ. 2546
  • พ.ศ.2547  การสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 13 เรื่อง “มิติใหม่ของการสร้างเสริมพัฒนาเด็กโดยองค์รวม” 29 มีนาคม พ.ศ. 2547
  • พ.ศ.2548  การสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ครั้งที่ 14 เรื่อง “สิทธิในอาหารและโภชนาการที่เพียงพอเพื่อการพัฒนามนุษย์” 15 – 17 สิงหาคม พ.ศ. 2548
  • พ.ศ.2549  การสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการครั้งที่ 15 เรื่อง “กระแสโลกเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้านโภชนาการ” 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549

การเสด็จพระราชดำเนินร่วมการสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการ ณ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและสิริมงคลต่อสถาบันโภชนาการ และนักวิชาการด้านอาหารและโภชนาการอย่างหาที่สุดมิได้ แล้วยังนับเป็นการสนับสนุนงานด้านอาหารและโภชนาการของชาติอีกด้วย ในการร่วมการสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้น พระองค์จะทรงสนพระทัย ทรงซักถาม ทรงเสนอแนะแสดงความเห็น และได้ทรงนำความรู้จากการสัมมนาวิชาการพิเศษด้านอาหารและโภชนาการไปปรับใช้ในโครงการส่วนพระองค์เพื่อพัฒนาภาวะโภชนาการของเด็กและประชาชนผู้ยากไร้ทั้งในพระเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านด้วย นอกจากนี้ ในบางปีที่ร่วมการสัมมนา พระองค์จะทรงเสวนาพิเศษทรงเล่าถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนของพระองค์ ยิ่งทำให้ชาวสถาบันโภชนาการได้เห็นถึงพระปรีชาสามารถและน้ำพระทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย นอกจากนี้ยังจุนเจือไปถึงผู้ยากไร้ในประเทศเพื่อนบ้านด้วย พระองค์จึงทรงเป็น “เจ้าฟ้านักโภชนาการ” หนึ่งในความทรงจำของชาวสถาบันโภชนาการตลอดไป

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.