What is your
Birthday Color?

“สี” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ลักษณะของแสงสว่าง ปรากฏแก่ตาให้เห็น เป็นสีขาว ดำ แดง เขียว เป็นต้น”

“สี” คือลักษณะความเข้มของแสงที่ปรากฏแก่สายตาให้เห็นเป็นสี โดยผ่านประสาทสัมผัสการมองเห็นผ่านศูนย์สับเปลี่ยนในสมองไปสู่ศูนย์การมองเห็นภาพ รับรู้ด้วยตามองจะรับข้อมูลจากตา โดยที่ตาได้ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลพลังงานแสงมา การสร้างภาพ หรือการมองเห็น ก็คือการที่ข้อมูลได้ผ่านการวิเคราะห์แยกแยะให้เรารับรู้ถึงสรรพสิ่งรอบตัว

ในวงการศิลปะหรือทฤษฎี คำว่า “สี” ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “Hue” ซึ่งหมายถึง เนื้อสีแท้ ๆ ที่สามารถนำมาผสมกันตามวิธีระบายสีหรือตามแบบต่าง ๆ

ในวงการเคมี คำว่า “สี” หมายถึง “Pigment” หรือสารประกอบที่เป็นเม็ดสีหรือรงควัตถุ

ในทางชีววิทยา หมายถึง “Pigment” ซึ่งมีอยู่ในมนุษย์ สัตว์และพืช

ในวงการฟิสิกส์ คำว่า “สี” หมายถึง “แสง คลื่นแสงหรือแถบแสงสีที่มองเห็น”

การสื่อความหมายของสี

สี สำหรับด้านจิตวิทยานั้น เป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกและมีผลต่อจิตใจของมนุษย์ต่างกัน เช่น

  • สีแดง ให้ความรู้สึกเร่าร้อน รุนแรง อันตราย ตื่นเต้น
  • สีเหลือง ให้ความรู้สึก สว่าง อบอุ่น แจ่มแจ้ง ร่าเริง ศรัทธา มั่งคั่ง
  • สีเขียว ให้ความรู้สึก สดใส สดชื่น เย็น ปลอดภัย สบายตา มุ่งหวัง
  • สีฟ้า ให้ความรู้สึก ปลอดโปร่ง แจ่มใส กว้าง ปราดเปรื่อง
  • สีม่วง ให้ความรู้สึก เศร้า หม่นหมอง ลึกลับ
  • สีดํา ให้ความรู้สึก มืดมิด เศร้า น่ากลัว หนักแน่น
  • สีขาว ให้ความรู้สึก บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ว่างเปล่า จืดชืด
  • สีส้ม ใหความรู้สึก สดใส ร้อนแรง เจิดจ้า มีพลัง อํานาจ
  • สีเทา ให้ความรู้สึก เศร้า เงียบขรึม สงบ แก่ชรา
  • สีน้ำเงิน ให้ความรู้สึก เงียบขรึม สงบสุข จริงจัง มีสมาธิ
  • สีน้ำตาล ให้ความรู้สึก แห้งแล้ง ไม่สดชื่น น่าเบื่อ
  • สีชมพู ให้ความรู้สึก อ่อนหวาน ความเป็นผู้หญิง ความประณีต ร่าเริง

สีกับความหมายในเชิงความเชื่อ

ในแต่ละความเชื่อจะใช้สีเป็นเครื่องมือในการสื่อความหมายที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม เช่น

  • สีขาว สื่อถึง ความบริสุทธิ์ ผู้มีศีลธรรม 
  • สีแดง สื่อถึงบาป กิเลส ความไร้ศีลธรรม ความโหดร้าย ความเปลี่ยนแปลง เลือดตกยางออก แต่ก็อาจสื่อถึง ความเสียสละ พลัง และความรัก 
  • น้ำเงิน สื่อถึงสีของท้องฟ้า สัญลักษณ์ของสวรรค์ ความจงรักภักดี และยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอมตะ
  • สีเขียว สื่อถึง ความหวัง การรักษา และการเติบโต 
  • สีเหลืองทอง เป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ หมายถึง อานุภาพ ความรุ่งโรจน์รุ่งเรือง
  • สีดํา สื่อถึง ความโศกเศร้า การไว้ทุกข์
  • สีเหลือง นอกจากสื่อถึงผู้ทรงศีลแล้ว ยังสื่อถึงแสงสว่างแห่งปัญญา ให้ความสงบ ทําให้ความรู้สึกกระตือรือร้น แจ่มใส

สีในวัฒนธรรมและคติความเชื่อของไทย

ในประเทศไทยมีความเชื่อเรื่องสีประจำวัน อันเป็นความเชื่อทางด้านโหราศาสตร์ ซึ่งสืบมาจากความเชื่อเรื่องสีกายของเทวดานพเคราะห์
ของศาสนาพราหมณ์ โดยเทวดาแต่ละองค์มีสีกายและกลายเป็นสีประจำวันต่าง ๆ ดังนี้

นอกจากนั้นยังมีการนุ่งห่มตามสีที่เป็นสิริมงคลตามวันต่าง ๆ ตามความเชื่อเรื่อง สวัสดิรักษา ซึ่งสตรีในเขตพระราชฐานชั้นในยึดถือปฏิบัติกันตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถึง รัชกาลที่ 6 ดังที่ปรากฏในนิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” สรุปความว่า

สำหรับผ้านุ่งเครื่องแต่งกายของข้าราชการฝ่ายหน้านั้น แต่เดิมจะใช้ผ้าที่ได้รับพระราชทานตามบรรดาศักดิ์ ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 5 พระราชทานเครื่องแบบสำหรับทหารมหาดเล็กเมื่อ พ.ศ. 2413 แล้ว จึงมีพระราชดำริให้มีเครื่องแบบสำหรับข้าราชการฝ่ายพลเรือนในเวลาปกติด้วย โดยทรงกำหนดให้แต่งเสื้อแพรสีแตกต่างกันตามกระทรวง คือ เจ้านายสีไพล กระทรวงมหาดไทยสีเขียวแก่ กลาโหมสีลูกหว้า กรมท่าสีน้ำเงินแก่ (ทำให้เรียกสีน้ำเงินแก่ว่าสีกรมท่าสืบมา) มหาดเล็กสีเหล็ก และอาลักษณ์กับโหรสีขาว โดยนุ่งกับผ้าม่วง แต่ก็ไม่ได้กำหนดเป็นทางการ ผู้ที่ได้รับพระราชทานก็แต่งตามนี้ ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานก็แต่งตัวอย่างเดิม

อ้างอิง

เกรียงไกร ฮ่องเฮงเส็ง. (2561). ประวัติความเป็นมาของการเรียกชื่อสีแบบไทยโบราณ: กรณีศึกษาหมู่สีเขียว. วารสารไทยคดีศึกษา. 15(1). 1-46.

เฉลิมชัย สุวรรณวัฒนา. (2553). สีในวัฒนธรรมคติความเชื่อของไทย(วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร.

เชื้อ ว่องส่งสาร. (2518). คราบหมอควาย. สัตวแพทยสาร. 26(2). 5-13.

สมภพ จงจิตต์โพธา. (2556). ทฤษฎีสี. กรุงเทพฯ: บริษัท วาดศิลป์ จำกัด. 

อดุลย์ วิริยเวชกุล (บรรณาธิการ). (2537). 25 ปี แห่งวันพระราชทานนาม มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพฯ: บริษัท อุดมสุขการพิมพ์ (1993).