พระกรณียกิจเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหิดล

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อประชาชนคนไทยทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขเป็นล้นพ้น ทรงรับเป็นองค์ประธานและองค์อุปถัมภ์ รวมถึงทรงสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ดังนี้

ต้นกันภัยมหิดล

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ประทานพระวินิจฉัยให้ต้นกันภัยมหิดลเป็นต้นไม้ สัญลักษณประจำมหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 30 ปี การพระราชทานนามมหาวิทยาลัย โดยมีพระวินิจฉัยว่า

1. ต้นไม้ที่สามารถพบได้ในประเทศไทย สามารถปลูกได้ง่าย

2. มีชื่อเป็นมงคล มีชื่อพ้องกับชื่อของมหาวิทยาลัยมหิดล

3. มีลักษณะสวยงาม แม้ลักษณะของต้นกันภัยจะเป็นไม้เถา แต่ก็สามารถจัดแต่งให้เป็นทรงพุ่มที่สวยงามได้หลายรูปแบบ มีอายุยืนยาวนานหลายปี และเมื่อเถาแห้งตายไปก็ยังสามารถเจริญงอกงามขึ้นมาใหม่ได้

และในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2542 อันเป็นวันครบรอบวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น ได้เสด็จมาทรงแสดงปาฐกถาเกียรติยศ เรื่อง “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” และทรงปลูกต้นกันภัยมหิดล ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาด้วย

ศิริราชมูลนิธิ

ทรงรับเป็นองค์ประธานคณะกรรมการบริหาร ศิริราชมูลนิธิ ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม พุทธศักราช 2538 ต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนนี โดยทรงพระกรุณาเสด็จมาเป็นองค์ประธานการประชุมสามัญประจำปี ของคณะกรรมการบริหารศิริราชมูลนิธิทุกปี ประทานทุนการกุศลสมเด็จย่า และประทานทรัพย์ ส่วนพระองค์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสในโรงพยาบาศิริราชเป็นประจำอีกด้วย ทรงรับเป็นองค์ประธานคณะกรรมการบริหาร ศิริราชมูลนิธิ ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม พุทธศักราช 2538 ต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนนี โดยทรงพระกรุณาเสด็จมาเป็นองค์ประธานการประชุมสามัญประจำปี ของคณะกรรมการบริหารศิริราชมูลนิธิทุกปี ประทานทุนการกุศลสมเด็จย่า และประทานทรัพย์ ส่วนพระองค์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสในโรงพยาบาศิริราชเป็นประจำอีกด้วย

มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย

ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พุทธศักราช 2521 โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเป็นองค์ประธาน มูลนิธิแห่งนี้ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยเกี่ยวกับค่ายา ค่ารักษาพยาบาลตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการผ่าตัดเปลี่ยนไต นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าวิจัย ตลอดจนสนับสนุนทุนการศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศแก่แพทย์โรคไต รวมทั้งส่งเสริมการอบรมพยาบาลให้มีความเชี่ยวชาญเพื่อดูแล รักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไตให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศ และส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไต ที่ถูกต้องแก่ประชาชน

มูลนิธิถันยรักษ์

ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

มูลนิธิถันยรักษ์ฯ เป็นอีกหนึ่งพระกรณียกิจสำคัญที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงสานต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนนีด้วยการรับเป็น องค์ประธานมูลนิธิฯ เมื่อ พุทธศักราช 2537 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม ด้วยเครื่องมือแพทย์และเทคนิคที่ทันสมัย มีระบบประกันคุณภาพ เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดี พัฒนาวิทยาการด้านการตรวจวินิจฉัย เต้านม โดยฝึกอบรมรังสีแพทย์และเจ้าหน้าที่เทคนิคให้มีทักษะ เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ยังมุ่งให้ศูนย์ถันยรักษ์ฯ เป็นศูนย์กลางรวบรวม ข้อมูลสถิติและเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเรื่องโรคของเต้านม แก่แพทย์ และประชาชนทั่วไปในรูปสื่อต่าง ๆ

ศูนย์เนื้อเยื่อชีวภาพกรุงเทพฯ

ในพระอุปถัมภ์ฯ

ก่อตั้งขึ้นโดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2529 เพื่อดำเนินขยายงานการผลิตเนื้อเยื่อชนิดต่าง ๆ เช่น เยื่อหุ้มสมอง เอ็นแผ่นข้างขา และเยื่อหุ้ม รกด้วยกรรมวิธีที่ทันสมัย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้เป็นศูนย์กลางการผลิตกระดูกและเนื้อเยื่อ เพื่อให้ในทางศัลยกรรมทั้งในประเทศและภูมิภาค รวมถึงพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีในการผลิตกระดูกและเนื้อเยื่อให้มีประสืทธิภาพ เป็นต้น

ทุนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

เพื่อพัฒนาการพยาบาลศิริราช

ทุนนี้จัดตั้งโดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติการพยาบาล ซึ่งคณะพยาบาลศาสตร์ และฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ องค์ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ

อาคารมหิดลอดุลยเดช-พระศรีนครินทร คณะพยาบาลศาสตร์

คณะพยาบาลศาสตร์มีดำริที่จะก่อสร้างอาคารพระศรีนครินทรขึ้นทดแทนอาคารหลังเดิมที่มีสภาพทรุดโทรมจึงได้จัดกิจกรรมต่างๆเพื่อหารายได้สมทบกองทุนปรับปรุงและก่อสร้างอาคารพระศรีนครินทรใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบจากสปอร์ตโฆษณาในโทรทัศน์ และทรงให้เลขาธิการพระราชวังประสานงานกับทางคณะ เพื่อพระราชทานเงินจากบัญชีสมเด็จพระศรีฯ โดยสำนักพระราชวัง ในการก่อสร้างอาคาร ซึ่งบัญชีนี้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเป็นผู้ดูแล จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเป็นที่ปรึกษาโครงการนี้ และประทานพระวินิจฉัยแบบร่างอาคารว่า ทรงเห็นชอบแบบที่มีลักษณะโปร่งกว่า ต่อมามีการย้ายโครงการก่อสร้างยังมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ก็ยังทรงใส่พระทัยแนะนำและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารอย่างใกล้ชิด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินทุนในการก่อสร้างเพิ่มเป็น 613,258,900 บาท

กองทุนช่วยเหลือประชาชน

ปลอดโรคเขตร้อน

คณะเวชศาสตร์เขตเวชศาสตร์เขตร้อนได้มองเห็นการให้บริการประชาชนที่เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากศูนย์สถานีวิจัยมาลาเลีย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี กำลังจะปิดตัวลงเนื่องจากทุนที่ได้จากหน่วยงานต่าง ๆ กำลังจะหมดลง คณะเวชศาสตร์เขตร้อนจึงกราบทูลขอพระอนุญาตจัดตั้ง “กองทุนช่วยเหลือประชาชนปลอดโรคเขตร้อน” เพื่อนำเงินกองทุนไปใช้ในการดำเนินกิจการของสถานีวิจัยมาลาเลีย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงรับเป็นองค์ประธานกองทุน และประทานเงินจาก “กองทุนสมเด็จย่า” เป็นจำนวน 300,000 บาท เพื่อเป็นเงินก้นถุงในกับสถานีวิจัยมาลาเลีย ประทานพร้อมกับลายพระหัตถ์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พุทธศักราช 2541